หลายคนคงเคยได้ยิน และสงสัยกันแน่ว่า Metaverse คืออะไร แล้วทำไมเราถึงต้องมาพูดถึงมันกัน แน่นอนว่าในช่วงที่ผ่านมานี้คงเป็นคำที่ได้รับการพูดถึงกันอย่างมากในโลกออนไลน์ และมีหลายคนให้ความสนใจกันมาก ซึ่งความนิยมของคำนี้มาจากการที่ Mark Zuckerberg ผู้เป็น CEO ของ Facebook ได้ประกาศเปลี่ยนชื่อบริษัทจากเดิม Facebook มาเป็น Meta เพื่อพาบริษัทตัวเองก้าวไปยิ่งกว่าการทำโซเชียลมีเดียเพียงอย่างเดียว ซึ่งในบทความนี้เราจะมาพูดคุยกันว่า Metaverse คืออะไร ทำไมมันถึงได้ความนิยม และการมาของมันทำประโยชน์อะไรได้ แล้วข้อดีข้อเสียที่อาจจะเกิดขึ้น..
Metaverse คืออะไร
Metaverse (เมตาเวิร์ส) เป็นการผสมคำระหว่าง Meta และ Verse รวมกันแล้วจะได้ความหมายว่า “จักรวาลเหนือจินตนาการ” ซึ่งคำนี้ปรากฏครั้งแรกในนวนิยาย Sci-Fi ที่ชื่อ “Snow Crash” เรื่องราวถึงเล่าถึงโลกอีกใบที่ทำให้ผู้คนได้เข้าถึงกัน และมีปฏิสัมพันธ์กันผ่านตัวละครจำลองของเรา ซึ่งหากใครทราบดีจะรู้ดีกว่า เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ปี 2564 คำ ๆ นี้ถูกบัญญัติศัพท์ไว้ในภาษาไทยที่ให้ความหมายชัดเจนว่า “จักรวาลนฤมิต” มีความหมายว่า การสร้างจักรวาล
คำว่า Metaverse นั้นอาจหมายถึงการนำเทคโนโลยีที่สามารถเชื่อมต่อทุกสารสื่อสารบนโลกออนไลน์ ให้รวมกันเป็นหนึ่งเดียวได้ ซึ่งถ้าถามว่าความหมายของมันคืออะไรกันแน่ ถ้าแปลตรงตัวเลย เราสามารถเปรียบเทียบให้มันถึงความเป็นจักรวาล ที่มีการรวมกันทั้งดวงดาว, โลก และทุกอณูในจักรวาลที่รวมกันเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งถ้าตีความก็คือการรวมทุกอย่างให้เป็นหนึ่งเดียวกันในพื้นที่หนึ่ง แน่นอนว่าการที่ Mark Zuckerberg ได้ประกาศเปลี่ยนชื่อจาก Facebook มาเป็น Meta ไม่ได้หมายความว่าเขาได้ครอบครองพื้นที่ของเมตาเวิร์สทั้งหมด เขาเพียงได้สร้างพื้นที่มาเพียงแค่จุดเดียว เพราะโลกออนไลน์หรือโลกอินเทอร์เน็ตก็เปรียบเสมือนจักรวาล ยังมีพื้นที่เหลือให้สามารถสร้างพื้นที่บนเมตาเวิร์สของตัวเองขึ้นมาได้อีก
นอกจากนี้ การเข้าถึงเทคโนโลยีและโลกอินเทอร์เน็ตอย่างกว้างขวาง หลายคนได้เริ่มให้ความหมายใหม่กับคำว่า Metaverse กันเพิ่มเติมว่าเมตาเวิร์สไม่จำกัดอยู่แค่การสร้างโลก หรือจักรวาลแห่งหนึ่ง แต่เป็นอะไรก็ได้ที่เกิดจากเทคโนโลยีและช่วยให้ผู้คนได้เข้าถึงกัน สามารถติดต่อสื่อสารและทำกิจกรรมรวมกันได้บนโลกออนไลน์ ตัวอย่างเช่น เกมออนไลน์ที่มีผู้เล่นสวมบทบาทเป็นตัวละครจำลองของเรา หรือจะเป็นพื้นที่เสมือนจริงในโลกออนไลน์ ที่ให้ผู้คนได้พบปะสังสรรค์และทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกันไม่ว่าจะเป็น Zoom แม้กระทั่งแพลตฟอร์ม Community ที่คอยแบ่งปัน Content ใหม่ ๆ ร่วมกัน ตัวอย่างเช่น Facebook, Line, Instagram หรือ Twitter
อย่างไรก็ตาม “เมตาเวิร์ส” ยังไม่มีนิยามความหมายหนึ่งเดียวที่ชัดเจน เพราะตอนนี้ยังดูเหมือนเป็นเพียงแนวคิดในอุดมคติที่รอคนมาสร้างให้เป็นรูปร่างขึ้นมา ซึ่งความหมายของคำนี้ที่ใกล้เคียงสุดคือ การรวมตัวกันพูดคุยกันบนโลกออนไลน์ อีกทั้งภาพรวมของเมตาเวิร์สจะใกล้เคียงกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตแห่งอนาคตที่กำลังกลายเป็นรูปแบบ 3 มิติ มีการไหลเวียนและส่งต่อธุรกิจ ข้อมูล และเครื่องมือการสื่อสารอย่างต่อเนื่อง สามารถใช้งานพร้อมกันได้อย่างไร้รอยต่อ เหมือนเป็นการจำลองโลกทางกายภาพให้ไปอยู่ในโลกคู่ขนานรูปแบบดิจิทัล
Metaverse กับเทคโนโลยี
Metaverse คือเทคโนโลยีที่สามารถทำให้ทุกการติดต่อสื่อสารบนโลกออนไลน์เป็นหนึ่งเดียว หากอ้างอิงคำพูดนี้ แน่นอนว่าการสร้าง เมตาเวิร์สก็ต้องมีเทคโนโลยีมาเกี่ยวข้องอย่างแน่นอน เรามาดูเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกันดีกว่าว่ามีอะไรบ้าง
1. Virtual World (โลกเสมือนจริง)
Virtual World หรือ โลกเสมือนจริง คือ โลกที่ตั้งอยู่บนอินเทอร์เน็ต ไม่ใช่สถานที่ที่มีอยู่จริงทางกายภาพ (โลกความเป็นจริง) ซึ่งถูกเชื่อมกันไว้ด้วยเทคโนโลยีบางอย่าง โดยคำที่เรามักจะได้ยินบ่อยเลยคือ “สังคมเสมือน” (Virtual Community) ซึ่งนับว่าเป็นฐานหัวใจสำคัญของ Metaverse ในตอนนี้เลยก็ว่าได้ ซึ่งโลกเสมือนจริงนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่แต่อย่างใด แต่กลับเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเป็นอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น ชุมชนเสมือนบน Facebook และโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ที่มีผู้คนเข้าไปพบ พูดคุย และมีปฏิสัมพันธ์กัน (Facebook นับเป็นโลกเสมือนแบบ 2D) และมีชุมชนเสมือนที่ให้เราเข้าไปพบปะกันแบบ 3D เช่น โลกของเกมออนไลน์อย่าง Animal Crossing ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก
2. Virtual Reality (VR)
Virtual Reality หรือที่หลายรู้จักกันได้ในชื่อ VR คือเทคโนโลยีที่จำลองสถานที่ขึ้นเพื่อให้เรารู้สึกเสมือนเข้าไปอยู่ในโลกเสมือนจริง หรือ Virtual World ได้ เทคโนโลยีตัวนี้สามารถสร้างการโต้ตอบ ปฏิสัมพันธ์กับสิ่งของ, สิ่งแวดล้อม, ผู้คน ภายในโลกเสมือนจริงได้ผ่านอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น เมาส์, แป้นพิมพ์, รีโมตคอนโทรล ฯลฯ รวมไปถึงอุปกรณ์สวมใส่อย่าง แว่น VR, ถุงมือ ถุงเท้า ที่ทำให้เราสัมผัสโลกเสมือนจริงได้ เทคโนโลยี VR นี้จะช่วยเพิ่มขีดจำกัดความสามารถของเราในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ปฏิสัมพันธ์กับวัตถุในโลกเสมือนจริงได้มากกว่าแค่การมองเห็น อีกทั้งช่วยให้เรารับรู้ถึงสัมผัส อุณหภูมิของสิ่งของ และในอนาคตอันใกล้น่าจะมีการจำลองความรู้สึกจากประสาทสัมผัสด้านต่าง ๆ ได้ละเอียดมากขึ้น
3. Augmented Reality (AR)
Augmented Reality หรือ AR คือเทคโนโลยีที่จำลองวัตถุ 3 มิติ ขึ้นมาให้เห็นในโลกความเป็นจริงของเรา โดยเราจะสามารถมองเห็นได้ผ่านอุปกรณ์ เช่น แว่นตาหรือกล้องของสมาร์ทโฟน ตัวอย่าง AR ที่เราได้บ่อยในช่วงหนึ่ง นั้นคือ เกม Pokemon Go ที่เราสามารถมองเห็นตัวโปเกมอนในพื้นที่จริงไม่ว่าจะเป็น บนท้องถนน ทางเดิน หรือตามที่ที่เราอยู่ โดยเราสามารถปฏิสัมพันธ์กับวัตถุเหล่านั้นได้ เทคโนโลยี AR ในปัจจุบัน ยังทำให้เราสามารถสัมผัสวัตถุเสมือนจริงผ่านอุปกรณ์สวมใส่ที่มีเซนเซอร์ได้ เช่น ถุงมือ/รองเท้า ฯลฯ หลักการทำงานคือ อุปกรณ์จะใช้เซนเซอร์ตรวจจับวัตถุทั้งภาพ เสียง สัมผัสของวัตถุ 3D ในโลกเสมือนจริง แล้วสะท้อนเป็นภาพหรือสัมผัสผ่านอุปกรณ์ ตัวอย่างเทคโนโลยี AR ที่นำมาประยุกต์ใช้ในปัจจุบัน เช่น เราสามารถทดลองวางเฟอร์นิเจอร์ 3D ที่อยากได้ ผ่านเทคโนโลยี AR มาลองจัดวางในบ้านของเราดูว่าได้ไหม มีขนาดพอดีหรือไม่ และโทนสีของสินค้าเข้ากับบ้านเราหรือเปล่า
4. Assisted Reality
Assisted Reality เป็นเทคโนโลยีที่ต่อยอดมาจากเทคโนโลยี Augmented Reality หรือ AR เทคโนโลยี Assisted Reality เป็นเทคโนโลยีผู้ช่วยที่อำนวยความสะดวกให้กับผู้คน สามารถดูหน้าจอและโต้ตอบกับหน้าจอได้โดยไม่ต้องใช้มือสัมผัส ตัวอย่างอุปกรณ์ที่ใช้คือ แว่นตาอัจฉริยะ ที่เชื่อมต่อกับเครือข่าย ให้ผู้ใช้สื่อสารและสั่งการผ่านเสียง แล้วข้อมูลต่าง ๆ จะแสดงบนเลนส์แว่นตา
5. Mixed Reality
Mixed Reality หรือ MR มีชื่อภาษาไทยว่า “ความเป็นจริงผสม” มันเป็นเทคโนโลยีที่ผสานกันระหว่าง VR และ AR เชื่อมโยงโลกความเป็นจริง เข้ากับโลกเสมือนจริง เพื่อให้เรารู้สึกถึงวัตถุและสถานที่ต่าง ๆ จากทั้งสองโลก การกระทำของเราสามารถส่งผ่านถึงวัตถุในโลกเสมือนจริงได้ และโลกความเป็นจริงก็สามารถส่งผลต่อวัตถุในโลกเสมือนจริงได้ด้วย โดยเทคโนโลยี MR ถูกทำมาเพื่อทลายกำแพงระหว่างโลกความเป็นจริงและโลกเสมือนจริง ให้เราสามารถเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับทั้งสองโลกได้โดยไม่ต้องสวมอุปกรณ์ VR เข้า-ออก ปัจจุบันเทคโนโลยี MR ถูกนำมาใช้ในหลากหลายวงการ ไม่ว่าจะเป็น การใช้พัฒนาเกม ใช้ในพิพิธภัณฑ์แสดงวัตถุเสมือนจริง ใช้ฝึกปฏิบัติทางการไกล ใช้ออกแบบและพัฒนาแอปบนโลกเสมือนจริง ฯลฯ สำหรับการทำงานของ Mixed Reality เราจะใช้งานได้ผ่านอุปกรณ์สวมใส่ที่มีเซนเซอร์ โดยอุปกรณ์ที่เริ่มใช้งานกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น คือ แว่นตากึ่งโปร่งแสง (Semi-Transparent glasses) หรือ MR headset ที่เราสามารถมองเห็นโลกความเป็นจริงได้อยู่ แต่ก็มองเห็นวัตถุในโลกเสมือนจริงได้ด้วย Assisted Reality ที่ถูกนำมาใช้ในระบบนำทางก็ถือเป็นหนึ่งในตัวอย่างการใช้ Mixed Reality เช่นกัน
6. Virtual Economies
Virtual Economies คือ ระบบเศรษฐกิจบนโลกเสมือนจริง ที่มีอีกชื่อหนึ่งว่า “Synthetic Economy” (ระบบเศรษฐกิจสังเคราะห์) หมายถึง ระบบเศรษฐกิจบนโลกออนไลน์ ซึ่งมีสินทรัพย์ที่ครอบครองได้ มีการแลกเปลี่ยน มีการกำหนดมูลค่าราคา โดย Virtual Economy เกิดขึ้นมานานแล้ว ตัวอย่างเช่น การเติมเงินในเกมเพื่อซื้อของ การนำไอเทมในเกมมาขายเป็นจริงในชีวิตจริง หรือการมาของเงินตราดิจิทัล (Cryptocurrency) และ NFT ฯลฯ และการมาของ Metaverse ทำให้ Virtual Economy จะยิ่งทวีคูณความสำคัญขึ้นไปอีก และเศรษฐกิจบนโลกเสมือนจริงนั้นก็สามารถส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจบนโลกแห่งความเป็นจริงได้ โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา Virtual Economy ถือว่าเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว มีเงินหมุนเวียนกันบนโลกออนไลน์เฉลี่ยสูงกว่าแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3.3 ล้านล้านบาท คนที่ลงทุนในโลกเสมือนจริงก็สามารถสร้างเงินได้จริงบนโลกความเป็นจริง เช่น การซื้อขายไอเทมเกม, การแลกเปลี่ยนผลงานศิลปะ NFT หรือการขายเหรียญดิจิทัลอย่างคริปโต (Cryptocurrency)
7. NFT หรือ Non-Fungible Tokens
NFT เป็นเสมือนเครื่องยืนยันว่าใครสามารถครอบครอง ซื้อขาย และสร้างมูลค่าให้กับสิ่งของหรือผลิตภัณฑ์ที่ปรากฏอยู่บนโลกออนไลน์ โดยมีเทคโนโลยีบล็อกเชนคอยกำกับความเป็นเจ้าของ และป้องกันการขโมย ตัวอย่างของ NFT ได้แก่ ผลงานศิลปะ, บัตรกีฬา, ของสะสม โดย NFT สามารถซื้อขายได้โดยสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency)
การมาของ Metaverse ให้ประโยชน์อะไรบ้าง
การมาของ Metaverse เกิดขึ้นมาจากการที่นำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ร่วมกัน แน่นอนว่าการนำเทคโนโลยีมาใช้ย่อมต้องสร้างประโยชน์ในด้านใดด้านหนึ่งอย่างแน่นอน อีกทั้งเมตาเวิร์สยังถูกมองว่าเป็นความหวังแห่งโลกอนาคต จึงได้คอยมีการพัฒนาเทคโนโลยีให้ทันสมัยและสามารถที่จะให้ทุกคนได้เชื่อมต่อ ติดต่อสื่อสารกันได้ทั่วโลก พร้อมให้ประโยชน์ต่อกลุ่มธุรกิจ และ จะสร้างประโยชน์อะไรได้บ้าง เรามาดูกันดีกว่า
- ด้านการพัฒนาเกม ถือว่าเป็นวงการแรกที่ก้าวหน้าเรื่องการนำเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับเมตาเวิร์สเข้ามาใช้ในตอนนี้ เราจะได้เห็นเกม VR/AR มากขึ้น และตอนนี้ก็เริ่มมี Metaverse Game ที่เราสามารถเข้าไปเล่นในโลกเสมือนจริงได้แล้ว และอนาคตอีกไม่ไกลนี้ การเข้าไปอยู่ในเกมแบบเรื่อง “Sword Art Online” อาจจะไม่เกินจริงอีกต่อไป
- ด้านบันเทิง เราสามารถสร้างตัวละครเสมือนจริงหรือจัดคอนเสิร์ตในโลกเสมือนจริงให้ผู้ชมเข้าร่วมและรับความบันเทิงแบบใหม่ได้ ตัวอย่างที่จะได้เห็นบ่อยกันในด้านบันเทิงของเทคโนโลยีเมตาเวิร์ส เลยก็คือ Vtuber นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างที่มีการใช้เทคโนโลยี Mixed Reality หรือ MR มาใช้เป็นภาพโฮโลแกรม 3D มาเป็นนักร้อง นักเต้นให้ผู้คนได้รับชมได้อีกด้วย
- ด้านการลงทุน เมตาเวิร์สทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจบนโลกเสมือนจริง ต่อไปเราอาจจะได้จับจองและลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล อย่างเหรียญคริปโต (Cryptocurrency) และการสะสมผลงาน NFT บนโลกเสมือนจริงได้
- ด้าน E-commerce การซื้อขายจะไม่เกิดได้แค่บนแพลตฟอร์มออนไลน์และโซเชียลมีเดียเท่านั้นแล้ว ต่อไปเมื่อเมตาเวิร์ส ถูกทำมาเป็นรูปเป็นร่างที่ชัดเจน เราสามารถเข้าไปรับชมและเลือกซื้อสินค้าและบริการในโลกเสมือนจริงได้ผ่านโลกเสมือนจริงบนเมตาเวิร์ส
- ด้านวิศวกรรม การทดลองสร้างวัตถุจำลองและทดสอบในโลกเสมือนจริง การออกแบบหุ่นยนต์หรือเครื่องจักร และการจำลองการทำงานและการติดตั้งเครื่องจักร รูปแบบของด้านวิศวกรรมจะเน้นไปทางเทคโนโลยี Mixed Reality หรือ MR เป็นหลัก เพื่อความปลอดภัย และประหยัดในต้นทุน
- ด้านการศึกษา ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือช่วงโรคระบาดที่ผ่านมา การเจอกันเป็นไปได้ยาก การศึกษาผ่านเทคโนโลยีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น VR, AR หรือเทคโนโลยีโฮโลแกรมที่มาจากเมตาเวิร์ส จะทำให้การศึกษาเข้าถึงผู้คนที่ต้องการได้ง่ายขึ้น และไม่จำเป็นต้องเสี่ยงกับโรคระบาด
- ด้านการแพทย์ เมตาเวิร์สถูกจับตามองในเรื่องของวงการแพทย์เป็นอย่างมาก เพราะจะช่วยให้แพทย์สามารถฝึกซ้อมทำศัลยกรรมต่าง ๆ ผ่านวัตถุเสมือนจริง การสร้างแบบจำลองวัตถุหรือแม้กระทั่งตัวผู้ป่วยจากข้อมูลในโลกจริง การผ่าตัดทางไกลผ่านการใช้เทคโนโลยี MR การให้ผู้ป่วยพบแพทย์เพื่อเข้ารับการบำบัดทางไกล ผ่านการพบเจอในเทคโนโลยีของเมตาเวิร์ส
ข้อดี / ข้อเสียของ Metaverse
การมาของ Metaverse ย่อมเป็นเหมือนดั่งเหรียญที่มีสองด้าน ที่ต้องมีด้านดีและด้านไม่ดีเสมอ เพราะฉะนั้น เรามาดูกันว่าการมาของเมตาเวิร์สจะมีข้อดีหรือข้อเสียอะไรบ้างที่คุณควรรู้และระวังไว้เมื่อเมตาเวิร์สเข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น
ข้อดี
- การเชื่อมต่อโลกความเป็นจริง และโลกเสมือนจริงเข้าด้วยกัน
- การติดต่อสื่อสารได้ประสบการณ์ที่ดีขึ้น เป็นอีกขั้นของโซเชียลมีเดีย
- การเกิดอาชีพใหม่ ๆ บนโลกเสมือนจริง
- เปลี่ยนรูปแบบการศึกษาและโรงเรียน สร้างประสบการณ์การเรียนออนไลน์ที่ดีขึ้น
- เกิดการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็น สกุลเงินดิจิทัลอย่างเหรียญคริปโต (Cryptocurrency) และ NFT
- เปลี่ยนรูปการทำงาน และที่ทำงานหรือ Work Place
- อินเทอร์เน็ตที่เข้าถึงผู้คนได้ทุกคน
- ประสบการณ์แปลกใหม่ที่ได้รับจากการท่องโลกดิจิทัล
ข้อเสีย
- มีโอกาสเกิดอาชญากรรมไซเบอร์ (Cybercrime) ได้หลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการคุกคามบนโลกเสมือนจริง, การลักทรัพย์, การขโมยข้อมูลหรือแบบจำลองไปทำเรื่องที่ผิดกฎหมาย ฯลฯ
- ปัญหาเรื่องความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของข้อมูล มาตรการในการจัดเก็บ ใช้ และเผยแพร่ข้อมูลบนโลกออนไลน์
- มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดการเสพติดโลกเสมือนจริง การใช้งานมากเกินไป จนส่งผลเสียต่อสุขภาพและกระทบชีวิตในโลกความเป็นจริง
- ปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดจากการเข้าไปอยู่ในโลกเสมือนจริงเป็นเวลานาน จนเกิดภาวะสับสนความเป็นจริง ความรู้สึกแย่ต่อตัวตนบนโลกความเป็นจริงที่ไม่สมบูรณ์แบบ
- การขาดปฏิสัมพันธ์กับคนจริง ๆ สูญเสียความสัมพันธ์ในโลกความเป็นจริง
- ปัญหาจริยธรรม เช่น การฆาตกรรมหรือข่มขืนบนโลกเสมือนจริงที่อาจเกิดขึ้น และเอาผิดไม่ได้, การขโมยข้อมูลไปขายตามตลาดมืด ฯลฯ
- เมื่อมีการใช้งานโลกเสมือนจริงที่มากไป อาจเกิดโลกาภิวัฒน์ ทำให้วัฒนธรรมที่หลากหลายในโลกความเป็นจริงค่อย ๆ เสื่อม หรือสูญหายไป
บทสรุป Metaverse โลกแห่งอนาคตที่เข้าถึงได้
หลังจากได้รู้จักกับ Metaverse ไปเบื้องต้นแล้ว หลายคนอาจจะตงิดใจขึ้นมาว่า เราอาจอยู่ในโลกเมตาเวิร์สไปแล้วก็ได้ แน่นอนว่าการกล่าวแบบนั้นถูกต้องอยู่ส่วนหนึ่ง เราสามารถทำกิจกรรม มีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันในโลกออนไลน์ได้แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม เมตาเวิร์ส ยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริงอย่างสมบูรณ์แบบ เพราะยังขาดองค์ประกอบหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น เทคโนโลยี หรือความเร็วในการไหลเวียน เสถียรภาพของข้อมูลทั้งหมดบนโลกออนไลน์ และการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของผู้คน อีกทั้งใจความอีกอย่างที่ต้องการจะสร้าง เมตาเวิร์สให้สำเร็จมากเท่าไร ยิ่งต้องมีการผลิตเทคโนโลยีให้ตอบโจทย์มากขึ้นเท่านั้น และการเชื่อมต่อทางอินเทอร์เน็ตยังคงเป็นหัวใจสำคัญที่จะสร้างเมตาเวิร์สให้มีอยู่จริงได้ อนาคต หากทุกคนได้เข้าถึงโลกอินเทอร์เน็ตกันเป็นเรื่องพื้นฐาน มีความเร็วอินเทอร์เน็ตที่มากกว่าในตอนนี้ เทคโนโลยีที่ก้าวไกลไปกว่าเดิม เราอาจจะได้เห็นโลกเมตาเวิร์สที่แท้จริงก็เป็นได้