หลายคนที่มีเว็บไซต์ที่ทำ SEO มักจะคิดว่าการใส่ Keyword หรือคำค้นหาหลักไปในหน้าเว็บไซต์หรือบนเนื้อหา Content เยอะ ๆ เป็นเรื่องที่ดี แน่นอนว่าปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเรื่องที่ดีในแง่มุมหนึ่ง เพราะมันทำให้เว็บไซต์ติดยอดผลการค้นหา (SERP) ได้ในระยะเวลาอันสั้น แต่หากมีการใช้งาน Keyword ที่มากไปอยู่บ่อยครั้ง จะเกิดปัญหาที่เรียกว่า Keyword Stuffing แล้วเจ้าปัญหาตัวนี้ที่เราพูดถึงมันคืออะไร ส่งผลเสียอย่างไรบ้าง บทความนี้จะมาพูดถึงกัน
Keyword Stuffing คืออะไร
Keyword Stuffing คือ การที่เราใส่ Keyword ลงไปในหน้าเว็บไซต์เป็นจำนวนมาก ซึ่งจำนวน Keyword มีมากกว่าอัตราส่วนของเนื้อหาที่มี หรือที่เราเรียกกันว่าการสแปม ปกติแล้วเวลาเราทำ Content ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น บทความลงหน้าเว็บไซต์ที่ทำ SEO เรามักจะใส่คำค้นหาหลักลงไปในเนื้อหาเสมอ เพื่อให้ Google มองเห็น เมื่อมีคนค้นหาคำดังกล่าวจะได้พบเว็บไซต์เรา ยกตัวอย่างเช่น Keyword ของคุณคือ “หนังสือ” แล้วเนื้อหาที่เขียนเป็นดังนี้
“หนังสือเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้คนต้องหยิบอ่าน หนังสือช่วยให้คนมีความรู้ หนังสือทำให้คนรู้สึกสบายใจ หนังสือเป็นสิ่งเยียวยาจิตใจ เพราะหนังสือคือหนังสือ“
จากตัวอย่างเราคงได้เห็นว่า มีการพิมพ์และใช้คำว่า ‘หนังสือ‘ ที่เป็น Keyword เยอะหรือบ่อยเกินไป เมื่อเทียบกับอัตราส่วนของเนื้อหา ซึ่งหลายคนคิดว่าการใส่ Keyword เยอะ ๆ ในเนื้อหาจะทำให้ Google มองเห็นได้ง่าย และมีประสิทธิภาพในการทำ SEO แต่ในความเป็นจริงแล้วตรงกันข้ามเลย มันส่งผลเสียต่อการทำ SEO ของคุณอย่างชัดเจน เพราะ Google จะมองว่าเว็บไซต์คุณมีการสแปมคำค้นหาหลักมากเกินไป
นอกจากนี้การนับ Keyword ไม่ได้นับแค่บนเนื้อหาหน้าเว็บไซต์แต่เพียงอย่างเดียว แต่รวมไปถึง Meta tag, Anchor Text, Titles, และAlt Titles อะไรก็ตามที่เป็นตัวอักษร และหากคุณไม่ระวังให้ดีในการใช้งาน Keyword คุณอาจจะได้เจอปัญหานี้แน่
Keyword Stuffing ส่งผลเสียอย่างไรบ้าง
เมื่อนับว่าเป็นปัญหา ย่อมต้องส่งผลเสียอย่างแน่นอน ซึ่งผลเสียของการทำ Keyword Stuffing ไม่ได้ส่งผลแค่การทำ SEO แต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นการบ่งบอกอะไรหลายอย่าง ทั้งจากทางผู้เข้าชม และคนทำเว็บไซต์อีกด้วย โดยปัญหาที่มักจะตามมานั้นก็คือ
- อันดับการค้นหาตกรวดเร็ว เพราะ Google มองว่าเป็นการสแปม
ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรกับการสแปม Keyword ที่มากเกินไปแล้วอันดับจะตก เพราะ Google มีกฎที่ชัดเจนว่า หากมีการสแปมหรือใช้ Keyword ที่มากเกินไป เว็บไซต์อาจจะได้ยอดอันดับขึ้นเร็ว แต่อันดับก็ตกหล่นเร็วเช่นกัน และ Google อาจจะมองว่าเว็บไซต์เราทำ Blackhat SEO (SEO สายดำ) ได้ ซึ่งต้องระวังให้ดีเช่นกัน ไม่งั้นเว็บอาจจะเสี่ยงถูกลงโทษหรือแบนจาก Google - ผู้เข้าชม รู้สึกไม่ดีและเบื่อหน่ายกับเว็บไซต์
ทุกครั้งที่มีการทำเนื้อหาประกอบบนเว็บไซต์ ไม่ว่าจะเป็นคำอธิบาย หรือบทความ เราต้องลองมองในมุมมองของผู้เข้าชมด้วยเช่นกัน ว่าเจอแบบนี้ แล้วจะรู้สึกอย่างไร เช่นเดียวกัน การสแปม Keyword ที่มากไปในเนื้อหา เมื่อผู้เข้าชมเห็นแล้ว ต้องย่อมรู้สึกเบื่อหน่าย และส่ายหน้าหนีจากเว็บของเราเป็นแน่แท้ และเมื่อมียอดการเข้าชมที่เข้าออกเว็บไซต์ของเราบ่อยครั้ง จะส่งผลเสียต่อเว็บไซต์ที่ทำ SEO ในส่วนของ Bounce rate อย่างชัดเจน - สัญญาณบ่งบอกว่างานไม่มีคุณภาพ
หากเป็น Content ที่เป็นเนื้อหาข้อความ หรือตัวอักษร อย่างบทความ การมี Keyword ที่มากเกินไป จะเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าผู้เขียนเริ่มไม่รู้จะเขียนอะไร และไม่ได้วางแผนการเขียนเนื้อหาอย่างเหมาะสม จึงใช้การสแปม Keyword เข้าไว้ ซึ่งเป็นสิ่งบ่งบอกอย่างชัดเจนว่างานเริ่มไม่มีคุณภาพ เพราะงานที่มีคุณภาพจะรู้จักการวางแผนเนื้อหาที่เหมาะสม และการใส่ Keyword ให้พอเหมาะ และถูกจุดอยู่เสมอ
วิธีแก้ปัญหาเบื้องต้น Keyword Stuffing
วิธีการแก้ปัญหานี้อาจจะดูไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยากสักทีเดียว ถ้าหากคุณรู้จักการวางแผน มองเนื้อหาโดยรวมได้อย่างชัดเจน และเข้าใจถึงการทำ SEO วิธีแก้ปัญหาเบื้องต้นที่เราแนะนำจะมีดังนี้
- หมั่นหาคำศัพท์ใหม่ ๆ และเรียบเรียงเนื้อหา
Content ที่มีเนื้อหา อย่างบทความ มักจะต้องมีการใช้คำหลักหรือ Keyword เพื่อเป็นการบอกเล่าอะไรบางอย่างผ่านบทความ แต่บางครั้งการใช้ Keyword ที่มากเกินไป ก็เป็นตัวบ่งบอกว่าคลังคำศัพท์ของผู้เขียนเริ่มตัน การหาคำศัพท์ใหม่ ๆ หรือคำศัพท์ตัวแทนมาใช้กับ Keyword เช่นการใช้คำทับศัพท์ หรือการระบุให้เป็นอะไรสักอย่าง ที่เป็นลักษณะนามมาแทนคำหลัก รวมไปถึงการลองเรียบเรียงประโยคให้สอดคล้องกัน จะช่วยลดปัญหาจำนวน Keyword ที่มากเกินไปได้ - วางแผนการใช้งาน Keyword ให้ดีก่อน
การสร้างเนื้อหาหรือ Content อะไรก็ตามลงบนเว็บไซต์ที่ทำ SEO เราต้องย่อมรู้อยู่แล้วว่า Keyword ของเนื้อหาคืออะไร และเนื้อหามีอยู่ประมาณไหน การวางแผน และกำหนดหัวข้อเนื้อหาให้ชัดเจน จะช่วยลดปัญหาการใช้ Keyword ที่มากเกินไปได้เช่นกัน เพราะคุณจะมองภาพรวมออกว่าในเนื้อหาที่จะทำว่ามีหัวข้อทั้งหมดเท่าไร เนื้อหายาวประมาณไหน และ Keyword ที่ใช้งานจะมีจำนวนทั้งหมดประมาณเท่าไร รวมไปถึงการใช้งาน Keyword บนหน้าเว็บไซต์ด้วย เพราะ Google นับ Keyword ทุกอย่างที่อยู่บนหน้าเว็บไซต์ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น Titles, Meta Tag, Anchor Text และ Alt Titles - ตรวจเช็ค Keyword ทุกครั้งที่ทำเสร็จ
วิธีการแก้และป้องกันปัญหาได้ทีเดียว คือการตรวจเช็ค Keyword บนเนื้อหาที่ทำอยู่เสมอ ดูจำนวนและปริมาณของเนื้อหา กับ Keyword ที่ใช้งานว่ามีความสอดคล้องกันหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น หากบทความงานเขียนที่ทำมามีทั้งหมด 1,500 คำ จำนวน Keyword ที่ควรมีจะอยู่ที่ประมาณ 20 คำ รวมทั้งในหัวข้อ และเนื้อหา เป็นต้น - ใช้เครื่องมือในการช่วยเช็ค
ลำพังแค่การใช้ตามองของคนเราอาจจะไม่ได้ดูได้ครบถ้วนนัก การใช้โปรแกรมบนเว็บเพื่อช่วยตรวจสอบ ก็ช่วยได้เช่นกัน เพราะจะมีความชัดเจนและแม่นยำ โดยเว็บที่เราแนะนำจะเป็น SmartSEOTool เครื่องมือที่จะมาช่วยนับจำนวน Keyword ที่ใช้งานทั้งหมดบนเนื้อหา สามารถใช้ได้กับหน้า URL ที่นับทั้ง Meta Tag, Titles และ Alt Titles และแบบข้อความที่สามารถนำข้อความมาใส่ลงได้เลย แต่มีข้อเสียที่ชัดเจน สำหรับคนที่ทำเนื้อหาเป็นภาษาไทย เพราะเครื่องมือตัวนี้จะนับได้แค่เฉพาะ Keyword ที่เป็นภาษาอังกฤษ
บทสรุป Keyword Stuffing การใช้ที่มากเกินไปจนส่งผลเสีย
การทำเนื้อหา Content ต่าง ๆ หรือเขียนเนื้อหาประกอบลงบนหน้าเว็บไซต์ที่ทำ SEO เราย่อมรู้ดีว่าการใช้งาน Keyword มีความสำคัญมากแค่ไหน ในการทำให้เว็บไซต์ขึ้นบนยอดผลการค้นหา (SERP) อาจนับได้ว่า Keyword เป็นหัวใจสำคัญหนึ่งของการทำ SEO เลยก็ว่าได้ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ใครหลายคนเรามองว่ามันมีความสำคัญมากขนาดนี้ ก็ต้องใช้ให้มากเช่นกัน ถึงจะได้ผลลัพธ์ที่ดี แน่นอนว่ามันให้ผลลัพธ์ที่ดี แต่ไม่มีความยั่งยืน และไม่ดีแน่ในการทำ SEO ระยะยาวอย่างแน่นอน
การใช้งาน Keyword ที่มากจนเกินไป จนเกิดปัญหาการซ้ำซ้อนของคำขึ้นมา จนส่งผลเสียร้ายแรงต่อการทำ SEO อีกทั้งเป็นสัญญาณบ่งบอกอะไรหลายอย่าง จากทั้งผู้เข้าชมและคนทำเว็บไซต์ รวมไปถึงการจะถูก Google จับตามองว่าเว็บไซต์ได้ทำผิดกฎเพราะเข้าค่าย SEO สายดำ ดังนั้นคนที่ทำเนื้อหาอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับ SEO ควรจะต้องรู้จักการใช้งาน Keyword ให้พอดี เพื่อเป็นการป้องกันปัญหา และส่งผลดีในการทำ SEO ระยะยาว