หากบอกว่ายุคนี้เป็นยุคแห่งข้อมูลข่าวสารก็คงไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะปัจจุบันมีคอนเทนต์จำนวนมหาศาลให้ผู้บริโภคสามารถเลือกรับชมได้ตามต้องการ ไม่ว่าจะสื่อช่องไหนหรือเว็บไซต์ใดบนโลกอินเทอร์เน็ต แม้กระทั่งในสื่อโซเชียลมีเดียบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ เราจะเห็นได้ว่ามีข้อมูลจำนวนมากถูกผลิตออกมาอย่างต่อเนื่องทุกนาทีทั่วโลก
ประเด็นสำคัญก็คือ ไม่ใช่ทุกเนื้อหาที่จะมีคุณภาพเสมอไป ยิ่งคนส่วนใหญ่ต่างก็มีเครื่องมือในการสร้างสรรค์คอนเทนต์ขึ้นมาได้อย่างง่ายดาย มันจึงกลายเป็นโอกาสที่ทุกคนมีสิทธิ์ในการเริ่มต้นถ่ายทอดอะไรบางอย่างได้ด้วยตนเอง ก่อให้เกิดการผลิตคอนเทนต์ที่มากยิ่งขึ้นไปอีก ทำให้เกิดคำถามว่า ท่ามกลางข้อมูลมหาศาลเช่นนี้ อัลกอริทึม (Algorithm) บน Search engine อย่าง Google มีวิธีคัดสรรเนื้อหาอย่างไรให้โดนใจเรา และลักษณะเนื้อหาแบบไหนคือตัวแปรที่ Google มีโอกาสชื่นชอบมากที่สุด
โดยในบทความนี้ เราจะมาไขข้อข้องใจกันทีละอย่าง ว่าการเขียนคอนเท้นต์แบบไหนทำให้ได้ใจ Google ไปครอง
คอนเท้นต์ที่มีคุณภาพ ควรมีลักษณะอย่างไร
จากมุมมองของผู้อ่าน เราแทบจะบอกได้ทันทีว่าเนื้อหาบทความชิ้นไหนมีหรือไม่มีคุณภาพ ในขณะที่เมื่อเราเป็นผู้เขียนเอง เราอาจกำลังคิดว่าบทความที่เขียนออกมาเป็นสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว อย่างน้อยก็เท่าที่จะทำได้ในตอนนั้น ซึ่งหัวข้อนี้ใกล้เคียงกับสูตรสำเร็จที่จะชี้ให้คุณเห็นว่า “คอนเท้นต์ที่ดี ควรมีลักษณะอย่างไร”
1. เนื้อหาควรเป็นต้นฉบับ
การสร้างสรรค์เนื้อหาที่ดี ไม่ควรมาจากการ Copy ไม่ว่าจะด้วยอะไรทั้งสิ้น การสร้างสรรค์เนื้อหาขึ้นมาใหม่ภายใต้องค์ความรู้ที่ประมวลออกมาจะทำให้เนื้อหาของคุณดูมีอะไรมากกว่าการหยิบเนื้อหาของคนอื่นมาดัดแปลงตรง ๆ เพราะผู้อ่านจะรู้ได้ทันทีจากการค้นหา (Research) ดังนั้นวิธีการที่ดีที่สุด คือคุณต้องหาไอเดียและประสบการณ์ให้มากเข้าไว้ เพื่อเป็นวัตถุดิบในการปรุงเนื้อหาให้ไม่เหมือนใครและเป็นสไตล์ของคุณเองให้ได้มากที่สุด
2. ส่งมอบประโยชน์หรือคุณค่าให้ผู้อ่าน
คอนเทนต์ที่ดี ไม่ใช่อะไรอื่นนอกจากการที่เนื้อหาเหล่านั้นได้มอบคุณค่าหรือช่วยแก้ไขปัญหาอะไรบางอย่างให้กับผู้รับสารได้ จะไม่มีประโยชน์เลยหากถ่ายทอดเรื่องราวที่ไม่ได้ให้อะไรบางอย่างกับผู้อ่าน นอกจากจะเสียเวลาแล้วยังทำให้เว็บไซต์ดูน่าเชื่อถือน้อยลง
3. เนื้อหาที่ดีจะตอบข้อสงสัยได้
การให้ความรู้ เป็นอีกหนึ่งลักษณะของคอนเทนต์ที่ดี หากผู้รับสารสามารถยกระดับความรู้ได้หลังจากอ่านบทความของเรา ก็นับได้ว่าเป็นความสำเร็จอีกชั้นของการเป็น Creator
4. มีแหล่งที่มาถูกต้อง
ผู้อ่านจะรู้ได้อย่างไรว่า ข้อมูลที่ได้รับเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง ฉะนั้นการแนบแหล่งอ้างอิง (Reference Source) แทรกเข้าไปด้วยจึงเป็นเครื่องยืนยันว่าเราได้ข้อมูลมาจากไหน นอกจากนี้ยังช่วยให้การสร้างเนื้อหาของคุณมีความน่าเชื่อถือได้มากขึ้นอีกด้วย
5. มีเอกลักษณ์บอกตัวตนชัด (Unique)
นอกจากตัวสร้างเนื้อหาไม่ควรเหมือนใครแล้ว สไตล์การเล่าเรื่องก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ควรมีความแตกต่าง แน่นอนว่ามันไม่ได้สร้างขึ้นมาง่าย ๆ ทั้งยังต้องใช้ความพยายามอย่างสูงในการทดลองวิธีการใหม่ ๆ แต่หากยังรักษาความเป็นตัวตนของตัวเองไว้ได้ ก็จะทำให้งานเขียนของคุณมี Character ที่ชัดเจนมากขึ้น นำไปสู่การมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง
ทั้งหมดคือคุณลักษณะที่จำเป็นต้องมี เพื่อทำให้การสร้างคอนเทนต์ของคุณมีคุณภาพตามมาตรฐานที่ควรจะเป็น แน่นอนว่าความยากในการสร้างสรรค์ผลงานมีความท้าทายหลายเรื่องที่ Creator ทุกคนต้องเจอเป็นเรื่องปกติ แต่ในท้ายที่สุดประสบการณ์จะบอกคุณเองว่าจะมีวิธีแบบไหนจะเหมาะสมสำหรับสร้างผลงานของเราในแต่ละชิ้น
Google ชอบคอนเท้นต์ประเภทใด
คอนเท้นต์ จัดเป็นความสำคัญสูงสุดเมื่อพูดถึงการค้นหาบน Search engine ทว่า Google ก็ได้ให้คุณค่าในแต่ละเนื้อหาไม่เท่ากัน จึงเห็นได้ว่าเนื้อหาบางประเภทมีอันดับสูงกว่า ซึ่งเป็นสิ่งที่นักการตลาดต้องแยกแยะให้ได้ว่าจะใช้ประเภทของเนื้อหาแบบไหนส่งผลให้ Google พึงพอใจกับสิ่งที่เราเสนอ โดยหัวข้อต่อไปนี้ คือประเภทของคอนเท้นต์ที่คุณควรรู้ หากอยากได้ Ranking ที่สูงขึ้น
1. บทสัมภาษณ์ที่น่าสนใจ
บทสัมภาษณ์มักมีเนื้อหาทรงคุณค่าในตัวอยู่แล้ว (ถ้าคุณตั้งคำถามสัมภาษณ์อย่างถูกต้อง!) ดังนั้น Google จึงชอบโพสต์ลักษณะนี้เป็นธรรมดา และเลือกให้คะแนนกับบทสัมภาษณ์เป็นอันดับต้น ๆ เทคนิคก็คือ พยายามเลือกหัวข้อที่ดึงดูดใจที่สุดที่คิดว่าคนจะอ่าน โดย Creator ต้องทำการบ้านอย่างหนัก สำหรับการออกแบบบทสัมภาษณ์ แต่ผลลัพธ์ที่ได้จะคุ้มค่าแน่นอน
2. จัดลิสต์รายการ
Google มักให้คะแนนเนื้อหาจำพวก “จัดลิสต์รายการ” ไม่น้อยทีเดียว ยกตัวอย่างเช่น 10 วิธี…, 8 เรื่องที่คุณต้องรู้, 5 อุปกรณ์ที่จำเป็นต้องมี เป็นต้น รายการเหล่านี้มักสร้างได้ไม่ยากและดึงดูดใจของผู้อ่านได้อย่างดี ทั้งยังทำให้เนื้อหาดูมีเอกลักษณ์ (Unique) ได้ไม่ยาก ทำให้การจัดลิสต์เป็นอีกตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับเหล่า Creator
3. สร้างศูนย์กลางการเรียนรู้
เนื้อหาที่มีส่วนสร้างเสริมการเรียนรู้ หรือเป็นแหล่งที่ใช้อ้างอิงเชื่อถือได้ คือปัจจัยที่จะช่วยเพิ่มน้ำหนักให้เว็บไซต์ของคุณดูน่าเชื่อถือมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีคนนำข้อมูลหรือเว็บไซต์ของเราไปใช้อ้างอิงต่อ จะส่งผลให้คะแนนการทำ Backlink เพิ่มขึ้น ซึ่งมีผลต่อ SEO ด้วยเหตุนี้การสร้างเนื้อหาให้มีน้ำหนัก สัมพันธ์กันอย่างชัดเจนตามจุดประสงค์ของเว็บไซต์ เพื่อส่งเสริมให้เป็นแหล่งเรียนรู้ ย่อมเกิดผลดีในระยะยาว
4. สร้างเนื้อหาที่ทุกคนเข้าใจได้
การสื่อสารที่ดี คือการ “สื่อสารด้วยภาษาเดียวกัน” ซึ่งไม่ได้หมายความว่าให้คุณไปเรียนภาษาจีน, เกาหลี, รัสเซีย เพิ่ม แต่ให้คุณใช้ระดับของภาษาที่ทุกคนสามารถเข้าใจได้ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการหรือชาวบ้านมาอ่านก็เข้าใจได้ทันที หากคุณสามารถสร้างเนื้อหาที่ช่วยให้ทุกคนเข้าใจได้ จะไม่แปลกเลยที่คุณจะดูเป็นผู้เชี่ยวชาญในสายตาของกลุ่มผู้อ่าน
5. แบบสำรวจทันเทรนด์
ไม่น่าเชื่อว่าเนื้อหาแนวสำรวจ ไม่ว่าจะเป็น ความคิดเห็น, งานวิจัย, ค้นหาข้อเท็จจริงบางอย่างจากประชากร เป็นสิ่งที่ Google ชอบอย่างมาก หากแบบสำรวจนั้นมีเนื้อหาแบบ Realtime ที่อ้างอิงเทรนด์ในช่วงเวลาปัจจุบันด้วยแล้ว บอกได้เลยว่า Google ก็พร้อมที่จะดันเนื้อหานั้นให้สุดเช่นกัน
6. เนื้อหาที่มีการแก้ไขและอัปเดตใหม่
ความรู้เก่าอาจถูกลบล้างได้โดยความรู้ใหม่ที่เกิดขึ้นทุกวัน การปรับปรุงแก้ไขไปพร้อมกับการอัปเดตเนื้อหาให้สดใหม่เสมอ คือสิ่งที่ Google สนับสนุนให้ทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะเชื่อได้ว่า Search engine คงไม่อยากนำเสนอบทความหรือเนื้อหาเก่า ๆ หากมีองค์ความรู้ใหม่ที่ดีกว่า
7. การเขียนรีวิว (Reviews)
การเขียนรีวิวเป็นอีกหนึ่งประเภทที่ได้รับความนิยมอย่างสูงจากเหล่า Creator กล่าวได้ว่าการสร้างเนื้อหาลักษณะนี้ มีความโดดเด่นที่แต่ละบุคคลสามารถสร้างสรรค์ผลงานได้แทบจะไม่ซ้ำกัน เนื่องจากแต่ละคนมักวิธีการเล่าหรือการนำเสนอที่ต่างกันไป แต่การรีวิวจะดีจริงหรือไม่ ตัดสินได้จากการที่ใครจะสามารถนำข้อมูลออกมากางให้เห็นภาพได้ชัดกว่ากัน และจะส่งมอบมุมมองหรือความคิดเห็นให้ผู้อ่านได้รับรู้ร่วมกันอย่างไร
8. เนื้อหาเชิงเปรียบเทียบ
เนื้อหาเชิงเปรียบเทียบ คือสิ่งที่ได้รับความนิยมไม่แพ้ประเภทอื่นเลยแม้แต่น้อย หากคุณสนใจเรื่องสินค้าเทคโนโลยี จะสามารถเห็นเนื้อหาประเภทนี้ได้บ่อยมาก ไม่ว่าจะเป็น เทียบจุดเด่น-จุดด้อย, ฟีเจอร์, ราคา, ความคุ้มค่า โดยเนื้อหาเหล่านี้จะมีส่วนช่วยให้ผู้อ่านตัดสินใจได้ว่าควรเลือกอะไรให้เหมาะกับตัวเอง
9. ข่าวเด่น
เนื้อหาเชิงการข่าว คือสิ่งที่อยู่รอบตัวเราตลอดเวลา Creator ที่เก่ง จะสามารถรับรู้ข่าวสารและนำมาถ่ายทอดได้ด้วย การรายงานสถานการณ์ข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาของคุณลงไป จะช่วยเพิ่มรสชาติและทำให้เว็บไซต์ดูน่าติดตามมากขึ้น เป็นอีกหนึ่งเคล็ดลับที่ช่วยได้ดีหากคุณไอเดียกำลังตัน
10. กรณีศึกษา (Case study)
เป็นอีกหนึ่งหัวข้อที่ไม่ควรพลาดอย่างยิ่งหากคุณต้องการสร้างเนื้อหาที่ดึงดูดใจและน่าเชื่อถือไปพร้อมกัน เนื่องจากคอนเทนต์ประเภทนี้มีน้ำหนักในตัวเองสูงอยู่แล้ว ทำให้ที่เหลือเป็นหน้าที่ของการอาศัยการวิเคราะห์, มองภาพรวม และรู้จักหยิบประเด็นเพื่อนำมาเล่า ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะทำให้ผู้อ่านสัมผัสได้ถึงการรับรู้ปัญหาและวิธีการแก้ไขได้อย่างชัดเจน
ข้อควรระวังในการสร้างคอนเท้นต์
การสร้างเนื้อหาที่ไม่ดีจะส่งผลกระทบต่อความเสียหายได้อย่ามหาศาลกับเว็บไซต์ ซึ่งให้น้ำหนักความน่าเชื่อถือมาก่อนเป็นอันดับต้น ๆ เป็นธรรมดาที่ Content Creator จะต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการสร้างสรรค์เนื้อหาที่ดีและถูกต้องออกมาให้ได้มากที่สุด และคงไม่อยากถูก Google ปัดตกเนื้อหาทิ้งไป (มีผลกับ SEO) ซึ่งหากคุณไม่อยากจะเสียเวลาในการทำคอนเท้นต์ไปอย่างเปล่าประโยชน์ ให้พยายามหลีกเลี่ยงหัวข้อดังนี้
1. ทำเนื้อหาให้กลายเป็นโฆษณาเกินไป
ไม่ว่าจะอัดขาย พ่วงโปรโมชั่น เน้นโปรโมทหนักเกินความจำเป็น สิ่งที่นี้จะทำให้ Google มองว่าไม่น่าสนใจเท่าไหร่ นอกจากจะใช้เจาะผู้บริโภคเฉพาะกลุ่มหรือผู้ที่ต้องการรับสารด้านการขายจริง ๆ เท่านั้น ทางที่ดีคือคุณควรมีปรับบทความที่ให้แทรก “วิธีแก้ปัญหาจากจุดยืนที่ไม่เหมือนใคร” จะดีกว่า ซึ่งจะทำให้เนื้อหาของคุณมีคนที่ต้องการอ่านมันได้มากขึ้น
2. อย่าเขียนสิ่งที่คุณไม่รู้ เพราะ Google รู้!
อย่าพยายามฝืนเขียนอะไรก็ตามที่คุณไม่มีข้อเท็จจริงสนับสนุน รวมถึงไม่มีการอ้างอิงแหล่งที่มา เพราะ Google จะมีการตรวจจับได้ว่าสิ่งที่คุณเขียนนั้นมีความเที่ยงตรงกับข้อมูลที่มีอยู่ในอัลกอริทึม (Algorithm) หรือไม่ นับเป็นเรื่องที่สำคัญมากกับการจัดอันดับ แม้จะไม่โดนลบก็ไม่ขึ้นหน้าแรกอยู่ดี โดยเฉพาะกับเว็บไซต์ที่เป็นสำนักข่าวดังหรือสื่อที่มีอิทธิพล แม้จะยังไม่ได้มีการนำมาใช้งานอย่างจริงจังกับเว็บไซต์หรือ Blog ทั่วไป แต่คุณก็ไม่ควรเขียนสิ่งที่ไม่รู้อยู่ดี
3. อย่าทำตัวเป็นผู้เชี่ยวชาญจอมปลอม
คล้ายคลึงกับข้อที่แล้ว แต่ต่างกันตรงที่มีคนจำนวนไม่น้อย นอกจากจะไม่รู้ในสิ่งที่ตัวเองควรจะเขียนแล้ว ยังเขียนสิ่งที่มโนลงไปอย่างเป็นตุเป็นตะขึ้นมาอีกด้วย! สิ่งนี้มีความผิดไม่ต่างจากการระบุข้อมูลเท็จลงไปในหน้าเว็บไซต์เลยแม้แต่น้อย แต่จะดีกว่าหรือไม่? หากเราจะนำเวลาตรงนี้ไปศึกษาเรื่องราวแบบจริงจังมากกว่าที่จะมโนขึ้นมาเอง
4. เขียนเพื่อเอาใจ SEO อย่างเดียว
แม้การเอาใจ Search engine จะเป็นสิ่งที่ควรทำ แต่อย่าลืมว่าคุณกำลังสร้างเนื้อหาที่ควรจะมีประโยชน์ให้กับผู้คนมากกว่า Creator บางคนใช้เทคนิคต่าง ๆ สำหรับการทำ SEO จนส่งผลกระทบต่อเนื้อหา (ไม่ว่าจะเป็นเพราะการวางโครงสร้างบทความที่ดูรกเกินไป หรือพยายามโยงเนื้อหาที่มากเกินไปจนไม่เกี่ยวกับหัวข้อ) โดย Google จะรู้ในท้ายที่สุดว่าเนื้อหานั้นไม่มีคุณภาพพอให้อยู่ในหน้าแรก
5. ไม่เขียนด้วย Reference อย่างเดียว
การมีข้อมูลอ้างอิง (Reference) เป็นเรื่องดีที่ควรทำ แต่มันจะไม่ดีในกรณีที่บทความของคุณมีแต่แหล่งอ้างอิงเต็มไปหมด โดยที่ไม่มีแนวคิด ความเห็น การวิเคราะห์ หรือปฏิสัมพันธ์ต่าง ๆ ในบทความของตัวเองเลย ดังนั้นอย่าพยายามทำให้บทความของคุณกลายเป็นแหล่งรวมอ้างอิงมากเกินไป การรู้จักเสริมข้อโต้แย้งหรือสรุปผลที่ผ่านการประมวลข้อมูลออกมาแล้ว จะช่วยให้บทความของคุณดูน่าค้นหามากขึ้น
6. การเขียนที่ขาดวัตถุประสงค์
อย่าตกม้าตายกับเรื่องนี้เด็ดขาด เพราะมันคือหัวใจหลักในการสร้างเนื้อหาที่ “มีประโยชน์” ถ้าสุดท้ายแล้วคุณไม่รู้ว่าจะเขียนไปเพราะอะไร แน่นอนว่าประโยชน์ย่อมไม่ตกถึงมือของผู้อ่านแน่นอน สิ่งนี้แก้ไขได้ไม่ยาก โดยให้คุณตั้งเป้าหมายพร้อมคิดเสมอว่า สิ่งที่คุณต้องการถ่ายทอดนั้น ผู้รับสารควรได้อะไรจากการรับรู้สิ่งนี้
Tips: เสกคอนเท้นต์อย่างไรให้ Google หลงรัก
- ลงลึกในสิ่งที่ผู้ชมอยากอ่าน – ศึกษา Audience ของคุณให้ลึกมากพอเพื่อค้นหาว่าพวกเขาอยากรู้อะไร พยายามอย่าเขียนอะไรที่ตื้นเกินเกินไป เพราะนอกจากจะทำให้คอนเท้นต์ดูไม่น่าสนใจ ยังทำให้ภาพรวมของเว็บไซต์คุณขาดเสน่ห์
- เนื้อหาที่ยาวขึ้น (Longer Content) ได้ใจกว่า – จากงานวิจัยล่าสุดจาก SerpIQ พบว่า Google ชอบเนื้อหายาว ๆ ซึ่งมีโอกาสถูกจัดอันดับได้ดีขึ้น แต่สิ่งสำคัญก็คือ ทั้งหมดต้องมีประเด็นที่เป็นประโยชน์และไม่ไร้สาระ ซึ่งคุณสามารถขยายเนื้อหาได้ โดยการเพิ่มเติมเนื้อหาด้าน กลยุทธ์(Strategies), ลูกเล่น (Tactics), ไอเดีย(Ideas), วิธีการ(Methods), คล็ดลับ(Tips) อย่างที่เราทำอยู่นี่ไง!
- ต้องอ่านง่ายเข้าใจได้ทันที – คอนเทนต์ที่ดีมักเกิดขึ้นเพราะมีการสื่อสารที่ดี การทำทุกอย่างให้เรียบง่าย เข้าใจได้เร็ว คือสิ่งที่ Google ให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก การใส่ลูกเล่นเยอะไปไม่ได้ช่วยทำให้คุณดุเป็นมืออาชีพมากขึ้น หากสุดท้ายแล้วสิ่งที่คุณจะสื่อไม่ให้ประโยชน์กับผู้ติดตามจริง ๆ
- จัดระเบียบโครงสร้างเนื้อหา – ส่งผลต่อ SEO โดยตรง หรืออย่างน้อยที่สุด การจัดโครงสร้างเนื้อหา โดยเฉพาะรูปแบบการเขียนที่จัดให้มองได้ง่าย อ่านได้ราบรื่น ก็ช่วยให้บทความของคุณดูน่าสนใจขึ้นมามากแล้ว
ยกระดับการเขียนคอนเท้นต์ ให้มีลูกเล่นมากกว่าเดิม
ไม่ใช่เพียงแค่ คอนเท้นต์ สำหรับการเขียนเท่านั้นที่ Google ชอบการนำเสนอในรูปแบบอื่นก็นับว่าเป็นทางเลือกที่น่าสนใจเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น
1. ใช้ภาพเสริมการเล่าเรื่อง (Illustration & Infographic)
การใช้ภาพเพื่อประกอบบทความ ย่อมดีกว่าการใช้ Text เพียงอย่างเดียว แต่จะดีมากขึ้นไปอีก หากคุณสามารถนำบทความเรียบเรียงเป็น Infographic ซึ่งจะช่วยดึงดูดให้คนสนใจงานของคุณได้มากขึ้น อีกทั้งยังช่วยให้พวกเขาเข้าใจเนื้อหาของเรื่องได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
2. นำเสนอผ่านวิดีโอ (Video)
แม้การผลิตวิดีโอจะใช้ต้นทุนสูง แต่หากเป็นไปได้ก็แนะนำให้เริ่มทำตั้งแต่ตอนนี้ เพราะจากงานวิจัยด้านการรับสื่อต่างบอกเป็นเสียงเดียวกัน ว่าผู้คนชอบที่ชมสื่อที่เป็นวิดีโอมากที่สุด (หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ Tiktok เติบโต) เพราะดูง่าย ใช้สมองประมวลน้อยกว่าการอ่าน Text อีกทั้งการสร้างวิดีโอยังช่วยเสริมการทำ SEO ได้อีกทาง นับเป็นสิ่งที่น่าลงทุนหากคุณอยากเริ่มนำเสนอด้วยวิธีการที่ไม่ใช่เพียงแค่นั่งเขียน
3. ค้นหาเรื่องเล่าสไตล์ใหม่ (Storytelling)
เชื่อหรือไม่? ว่า Google มีระบบตรวจไวยากรณ์ที่เกือบจะบอกได้ว่าใครคัดลอกกันมา ดังนั้นหากคุณอยากสร้างเนื้อหาที่แปลกใหม่ อย่าลืมการใช้วิธีการเล่าเรื่องใหม่ ๆ แทรกลงไปด้วย เพราะนอกจากจะทำให้ผู้อ่านประทับใจแล้ว Google ก็ปลื้มไม่แพ้กัน
4. สร้างเป็น พอดแคสต์ (Podcast)
อีกช่องทางที่ของการนำเสนอที่จะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย มีข้อดีหลายอย่างซึ่งจัดได้ว่าใช้การลงทุนที่ไม่สูงมากนัก แต่สามารถสร้างผลลัพธ์ได้ดีทีเดียวหากทำอย่างเป็นมืออาชีพ ใครที่ถนัดด้านการพูดต้องไม่พลาดกับวิธีนี้
Google ว่ายังไง? หากใช้ AI ช่วยเขียนคอนเท้นต์
ปัจจุบันเราไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่า AI หรือปัญญาประดิษฐ์ มีส่วนเข้ามาช่วยในการสร้างคอนเทนต์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกับประเภทบทความที่มีการเขียนออกมาได้เหมือนมนุษย์จนแทบแยกไม่ออก คำถามคือ “Google ว่ายังไง หากใช้ AI ช่วยเขียน คอนเท้นต์ ?”
โดยข้อความจากสำนักข่าว Futurism ซึ่งทำการสัมภาษณ์ แดนนี ซัลลิแวน (Danny Sullivan) ผู้ทำหน้าที่ประสานงาน Google Search เกี่ยวกับการ ใช้ AI เพื่อช่วยเขียนบทความ ได้เปิดเผยว่า “ทีมจัดอันดับ Ranking ให้ความสำคัญกับประโยชน์ของเนื้อหา มากกว่าวิธีการที่ใช้ผลิตเนื้อหา” นั่นหมายความว่า การใช้ AI เพื่อเขียนบทความจะไม่ถูก Google ปัดตก ตราบเท่าที่เนื้อหามีคุณภาพและมอบประโยชน์สูงสุดให้กับผู้อ่าน
ด้วยเหตุนี้จึงเปรียบได้ดั่งดาบสองคม โดยในทางหนึ่ง AI อาจมีส่วนช่วยอุดจุดอ่อนด้านการเขียนบทความหรือทำคอนเท้นต์บางประเภทได้ดี ในขณะที่ทางฝั่งผู้ส่งสแปม (Spammers) ก็สามารถฉวยโอกาสในการหาผลประโยชน์จากเรื่องนี้ได้เช่นกัน
สรุป คอนเท้นต์ที่ดี ต้องถูกใจทั้งคนและบอท
คอนเท้นต์ที่ดี ไม่มีอะไรที่มากไปกว่าการตอบโจทย์เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับผู้อ่านได้ อีกทั้งการจัดโครงสร้างของบทความที่เหมาะสมจะช่วยเสริมการทำ SEO ให้มีโอกาสส่งถึงมือผู้อ่านได้มากขึ้น ฉะนั้นการทำคอนเทนต์ที่ดี จึงจำเป็นต้องเอาใจทั้งคนและบอท (Googlebot) ควบคู่กันไป
ซึ่งเทคนิคทั้งหมดที่กล่าวมานั้น ก็ขึ้นอยู่ว่าผู้อ่านจะนำไปประยุกต์ใช้อย่างไรให้เกิดประโยชน์ อย่าลืมว่าเทคนิคทุกอย่างอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต การติดตามข่าวสารเพื่อปรับตัวให้ทันจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ Creator นั้นพลาดไม่ได้