คนส่วนใหญ่มีการตรวจสุขภาพประจำปีเป็นเรื่องปกติ (หรืออาจจะบ่อยกว่านั้น) เหตุผลไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากต้องการรู้ว่าร่างกายของเรามีจุดบกพร่องตรงส่วนไหน เพื่อดูแลรักษาเป็นพิเศษ การทำเว็บไซต์เองก็ไม่ต่างกัน เนื่องจากเราต้องหมั่นตรวจสอบให้แน่ใจเพื่อวัดผลลัพธ์ที่ได้ว่ามี Performance ที่น่าพึงพอใจหรือไม่ พร้อมหาตัวแปรสำคัญที่ช่วยให้เราสามารถทำ SEO ได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งการทำ SEO Audit ก็คือกระบวนการหนึ่งที่มีขึ้นเพื่อจุดประสงค์นี้โดยเฉพาะ
SEO Audit คืออะไร
SEO Audit คือ การตรวจสอบเพื่อประเมินว่าเว็บไซต์ของคุณเหมาะสมสำหรับการใช้บน Search engine มากแค่ไหน โดยมีการใช้ Tools เข้ามาช่วยเพื่อระบุข้อผิดพลาดต่าง ๆ ที่อาจทำให้เว็บไซต์ของคุณไม่อยู่ในอันดับที่ดี และเสนอข้อควรปรับปรุงที่ช่วยให้เว็บไซต์ของคุณ มีคุณสมบัติที่เหมาะสมมากขึ้นในการถูกจัดอันดับที่ดีขึ้น
Tools ยอดนิยมสำหรับ SEO Audit
เรียกได้ว่าหัวใจการทำ SEO Audit เพื่อปรับปรุงเว็บไซต์ให้ติดอยู่ในหน้าแรกของ Search engine ขึ้นอยู่กับข้อมูลเชิงลึกที่ได้มา ที่มีการวัดค่าทางเทคนิคมากมายที่อาจทำให้คุณสงสัยและเริ่มคิดกับตัวเองว่าควรทำอะไรก่อนเป็นอันดับแรก
ก่อนอื่นให้เตรียม Tools ของคุณให้พร้อม เนื่องจากเราจำเป็นต้องใช้ข้อมูลที่คอยวัดค่าในแต่ละด้านอย่างละเอียด ซึ่ง 2 เครื่องมือที่ใช้ได้ง่ายและครอบคลุมก็คือ
- Google Search Console: ชุดแดชบอร์ด (Dashboards) เพื่อการค้นหารายงานข้อมูลเชิงลึกโดย Google ที่ให้คุณตรวจสอบและแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการแสดงเว็บไซต์ของคุณบน Google
- Semrush: ชุดเครื่องมือทำ SEO แบบ all-in-one ที่บอกประสิทธิภาพเว็บไซต์ของคุณ พร้อมคำสั่งช่วยปรับปรุงเว็บไซต์ของคุณในด้าน SEO ที่ครอบคลุมทั้งหมด
โดยทั้ง 2 เครื่องมือเราสามารถนำมาปรับใช้ได้ตามโอกาส แต่หากนอกเหนือจากนี้ก็ยังมี Tools อีกหลายตัวให้คุณได้เลือกใช้ ไม่ว่าจะเป็น GTmetrix, SEOmator, Ahrefs Site Audit Tool และอื่น ๆ สามารถเลือกได้เลยว่าถนัดใช้ตัวไหนมากกว่า
16 Checklist SEO Audit ให้เว็บไซต์กลับมาติดอันดับ
SEO Audit มีกระบวนการที่ซับซ้อนและครอบคลุมในหลายส่วนด้วยกัน จึงไม่แปลกใจเลยหากผู้ที่เริ่มทำ SEO Audit พบว่ามีรายละเอียดเชิงลึกหลายส่วนให้ต้องตรวจสอบ อาจต้องใช้เวลาและความใจเย็นเพื่อดูว่าอะไรคือสิ่งที่เราควรปรับปรุงไปในแต่ละขั้นอย่างไร และหัวข้อนี้คือ Checklist ที่จะให้เราไล่ไปพร้อมกัน ว่าการเริ่มลงมือทำ SEO Audit นั้นมีส่วนไหนที่สำคัญเป็นพิเศษบ้าง
1. เช็ก Indexing Issues
หน้าเว็บที่ไม่ได้ถูกจัดทำ Index จะไม่อยู่ในฐานข้อมูลของ Google ที่ถูกนำไปทำ Ranking ซึ่งคุณสามารถตรวจสอบได้ใน Google Search Console โดยจะมีการแสดงค่าสถานะทั้งหมดให้เราเห็นว่าหน้า Page ไหนยังไม่ได้มีการถูก Index เพราะเหตุผลใด โดยข้อสำคัญก็คือ ไม่จำเป็นว่าทุก Page หรือ URL ของคุณต้องถูก Index เสมอไป
หากเป็นลักษณะของ เพจเพื่อการเปลี่ยนเส้นทาง (Pages with redirects), Admin pages, หน้า Feed ที่ไม่สำคัญ, หน้าสำรอง Canonical Tags เป็นต้น หากดูแล้วว่าหน้าไหนควรได้รับการ Index แต่ไม่พบ คุณก็สามารถที่จะตรวจสอบแก้ไขและขอให้ Google จัดทำ Index มายังหน้าเว็บไซต์ที่ต้องการได้
2. เว็บไซต์คุณมี URL ที่ซ้ำซ้อนกันหรือเปล่า?
ก่อนอื่นเลยคุณต้องแน่ใจว่า Google จะทำการ Index เว็บไซต์ของคุณด้วย URL ในเวอร์ชันเดียวกัน เพื่อให้ Google มองว่ามาจากแหล่งเดียวกัน ซึ่งลักษณะของ URL ส่วนใหญ่จะแบ่งเป็น
- http://www.Nameyoursite.com
- http://Nameyoursite.com
- https://www.Nameyoursite.com
- https://Nameyoursite.com
หากเว็บไซต์ของคุณทำงานบนเวอร์ชันของ URL เหล่านี้มากกว่าหนึ่งเวอร์ชัน อาจทำให้เกิดปัญหาตามมาเกี่ยวกับการรวบรวมข้อมูล การจัดทำ Index และ Ranking ซึ่ง Google จะถือว่าเป็นรายการที่ซ้ำกัน วิธีแก้ไขก็คือ ให้คุณไล่ตรวจสอบ URL ผ่านเว็บเบราว์เซอร์ และทำการเปลี่ยนเส้นทาง Redirect ไปยัง URL ที่คุณวางไว้ให้ถูกต้อง
3. เช็กการเรียกใช้ Crawler
การทำ SEO ที่ดีคือการช่วยให้ Crawler ทำงานได้มีประสิทธิภาพ โดยเจ้าตัว Crawler คือ Software application รูปแบบหนึ่งหรือในอีกชื่อคือ Internet bot ที่จะวิ่งไปรวบรวมข้อมูลจาก URL บนเว็บไซต์ต่าง ๆ เพื่อนำข้อมูล Attribute name ไปจนถึง Tags ของ HTML ไปทำการ Index เพื่อให้ Google ได้รู้จัก ในกรณีนี้คุณสามารถตรวจสอบการทำงานได้ผ่าน Tools SEO Audit ต่าง ๆ ซึ่งจะคอยให้ข้อมูลสำหรับการตรวจสอบ สุขภาพเว็บไซต์ (Site Health) โดยฟีเจอร์ของ Tools เหล่านี้จะระบุเหตุผล ว่าทำไมเว็บไซต์ของคุณยังมีข้อผิดพลาดบางอย่างเกิดขึ้นและควรจะแก้ไขตามหัวข้ออย่างไร ยกตัวอย่างเช่น
- Crawlability issues – ปัญหาการรวบรวมข้อมูล
- Redirect issues – ปัญหาสำหรับการเปลี่ยนเส้นทาง
- Sitemap issues – พบหน้าที่ไม่ถูกต้องบน Sitemap
- Internal links issues – ลิงก์ภายในบางตัวเสีย ใช้งานไม่ได้
- Performance issues – ประสิทธิภาพโดยรวมของเว็บไซต์ เช่น บางหน้าโหลดได้ช้า
และปัญหาอื่น ๆ อีกหลายด้าน ที่อาจนำพาไปสู่การทำ Technical SEO ได้ลึกยิ่งขึ้น
4. เช็ก Manual Actions
สำหรับ Google Search Console จะมี Tools ตัวหนึ่งที่ชื่อว่า “Security and Manual Actions” คอยตรวจสอบภาพรวมทั้งหมดเกี่ยวกับเว็บไซต์ของคุณว่าในขณะนี้เว็บไซต์เจอกับปัญหาอะไรบ้างที่ผิดนโยบายของ Google ไม่ว่าจะเป็น การจุคำที่มากเกินไปในบทความ (Keyword stuffing), มีลิงก์ที่ผิดปกติ (Unnatural links), สแปม (Spam) ซึ่งเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้จะปรากฏอยู่บนหน้า Tools ให้คุณได้ตรวจสอบถึงสิ่งที่ผิดปกติและแก้ไขไปตามขั้นตอน
5. เช็ก Mobile-friendly
ปฏิเสธไม่ได้ว่ามือถือสมาร์ตโฟน คือสิ่งที่จำเป็นในยุคปัจจุบัน ดังนั้นการที่เว็บไซต์ของคุณทำงานบนมือถือสมาร์ตโฟนได้ดี จะช่วยให้เกิดความประทับใจสำหรับประสบการณ์ของ User ตามไปด้วย อีกทั้ง Google ยังให้ความสำคัญกับเรื่องนี้จนถูกนำไปใช้จัด Ranking ตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา (และมีแนวโน้มว่าจะให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้นไปอีก)
ซึ่งวิธีที่คุณจะเช็กว่าเว็บไซต์ของคุณมีประสิทธิภาพการทำงานอย่างไรบนมือถือสมาร์ตโฟน ก็สามารถใช้ Google’s Search Console เพื่อค้นหาจุดที่ควรปรับปรุงได้ทันที นอกจากนี้ยังมีบริการและเครื่องมืออื่น ๆ อีกหลายเว็บไซต์ที่ช่วยตรวจสอบในเรื่องนี้ได้ด้วยเช่นกัน
6. ความเร็วการโหลดเว็บไซต์
หน้าเว็บไซต์ที่โหลดได้อย่างรวดเร็ว คืออีกหนึ่งปัจจัยที่ Google นำมาจัด Ranking หรือที่เรียกกันว่า Page Speed เนื่องจากเรื่องนี้กระทบกับประสบการณ์ของ User โดยตรงจึงทำให้ความสำคัญเรื่องนี้นำมาเป็นอันดับต้น ๆ ลองจินตนาการว่าหากคุณใช้เวลานานเกินไปในการเข้าไปยังหน้าเว็บไซต์ คุณก็มีสิทธิ์ที่จะปัดหน้านั้นทิ้งไปในทันที (บางสถิติบอกเลยว่าหากเกิน 5 วินาทีขึ้นไป มีโอกาสโดนปิดทิ้งสูง) ดังนั้นการปรับปรุงในเรื่องนี้คือสิ่งที่พลาดไปไม่ได้ แม้จะไม่ทำให้ยอดการเข้าเว็บไซต์ของคุณมากขึ้น แต่เชื่อเลยว่าอย่างน้อยก็จะไม่ทำให้ User หนีหายตราบเท่าที่ content ของคุณยังน่าสนใจ
7. วิเคราะห์ Core Web Vitals
ในปี 2020 Google ได้เปิดตัวเมตริกใหม่ 3 รายการที่เกี่ยวข้องกับความเร็วของหน้าเว็บและประสบการณ์ของผู้ใช้ แบ่งออกเป็น
- Largest Contentful Paint (LCP): วัดระยะเวลาที่ใช้ในการโหลดส่วนที่ใหญ่ที่สุดของหน้า
- First Input Delay (FID): วัดความล่าช้าระหว่างการโต้ตอบครั้งแรกของผู้ใช้กับเพจ และการตอบสนองของเบราว์เซอร์
- Cumulative Layout Shift (CLS): วัดว่า Layout ของหน้ามีการเปลี่ยนแปลงมากน้อยเพียงใดสำหรับผู้ใช้ ตลอดจนความเสถียรของภาพ
โดยคะแนนทั้งหมดจะส่งผลต่อ SERP (Search Engine Results Page) โดยตรงและแน่นอนว่ามีผลกับการทำ SEO เช่นกัน โดย Google Search Console ก็มีเครื่องมือให้คุณได้ตรวจสอบเมตริกเหล่านี้ เพื่อใช้ในการปรับปรุงเว็บไซต์ให้ดีขึ้น
8. การใช้ Internal Links
Internal Links เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสร้าง Traffic ภายในเว็บไซต์ได้เป็นอย่างดี นอกจากจะได้คะแนนมากขึ้นจาก Search engines ยังทำให้ User สามารถรู้จักเนื้อหาภายในเว็บไซต์ของเราได้มากขึ้น ทั้งยังมีส่วนช่วยให้เราสามารถดึงผู้ชมเข้าไปสู่หน้าเว็บไซต์ที่เราต้องการ
โดยอาจนำไปสู่ Conversion ซึ่งการกลับมา Audit เรื่องนี้จะช่วยทำให้เรารู้ได้ว่าผลลัพธ์จากการทำ Internal Links เป็นอย่างไร โดยการใช้ Tools จะแนะนำเราได้ว่า สิ่งที่ทำไปได้ผลหรือไม่ มีลิงก์ไหนเกิดการ Error และควรปรับปรุงอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพได้อย่างเต็มที่
9. เช็ก Organic Traffic
ถ้าจะถามว่าเว็บไซต์ของคุณสำเร็จไปแล้วแค่ไหนสำหรับการทำ SEO? Organic Traffic คืออีกตัวบ่งชี้ที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้ เนื่องจาก Organic Traffic คือสิ่งที่บ่งบอกถึงคุณภาพการเข้าถึงหลายอย่างผ่านตัวมันเองอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเพราะ Content ที่ดี หรือมีการทำ Backlink ที่ถูกต้องเหมาะสม ซึ่งการ Analyze Organic Traffic จะช่วยให้เราสามารถมองเห็นภาพรวมได้ว่า User ของเรามาจากไหน นำไปสู่การหาข้อเท็จจริงผ่าน Data ที่จะบอกหรือทำนายพฤติกรรม User ได้อย่างชัดเจนเพื่อให้เราสามารถปรับตัวเพื่อรองรับได้อย่างสอดคล้องมากที่สุด
10. เทียบกับคู่แข่งของคุณได้มากแค่ไหน?
SEO Audit ที่ดีควรช่วยให้คุณเห็น ว่าตอนนี้คุณยืนอยู่ตรงไหนเมื่อเทียบกับคู่แข่งคนอื่น ๆ โดย Semrush จะมี Tools ที่ชื่อว่า “Domain Overview” จับตาดูสิ่งนี้ให้คุณเพื่อที่จะรู้ความเป็นไปของคู่แข่งได้อย่างใกล้ชิด หากคุณต้องการลดระยะห่างให้เข้าใกล้คู่แข่งที่มีอันดับเหนือกว่า Tools เหล่านี้จะมีส่วนชี้ให้คุณเห็นสิ่งที่ควรทำระหว่างช่องว่างเหล่านั้นไม่ว่าจะเป็น
- Authority Score – แสดงคุณภาพ Domain ในระดับตั้งแต่ 1 ถึง 100 (ขึ้นอยู่กับ backlink ปริมาณการค้นหา และปัจจัยอื่นๆ)
- Organic Traffic – แสดงปริมาณการเข้าชมแบบ Organic ที่ Domain ได้รับ
- Organic keywords – แสดงคำนวณ Keywords หลักที่ใช่ซึ่ง Domain ได้จัดอันดับให้
- Referring Domains – Domain ที่อ้างอิงมายังเว็บไซต์ของเราที่ถูกพูดถึง (ไม่ว่าจะมีกี่ลิงก์ก็นับเป็น 1 คะแนนต่อ 1 Domain)
โดยข้อมูลเหล่านี้เมื่อนำไป Analyze อย่างถูกต้องจะช่วยให้เราเข้าใจภาพรวมได้ว่าอะไร คือสิ่งที่เราควรปรับปรุงเพื่อเอาชนะคู่แข่งได้อย่างเห็นผล
11. เช็ก Keyword Gap
การกำหนด Keyword ที่ถูกต้องช่วยให้การทำ SEO มีประสิทธิภาพ นี่คือสิ่งที่เราต่างรู้กันดีอยู่แล้ว แต่เมื่อต้องเทียบกับคู่แข่ง คุณมั่นใจแค่ไหนว่า Keyword ที่คุณใช้เป็นคำที่มีประสิทธิภาพจริง ๆ คุณอาจจะเห็นช่องว่าง (Gap) เหล่านั้นเมื่อได้ดูอันดับของคู่แข่งที่อยู่สูงกว่า ซึ่ง Tools ที่ช่วยทำ SEO Audit หลายตัวจะมีฟีเจอร์ที่สำรวจได้ว่า Keyword ไหนที่คู่แข่งของคุณมีแต่คุณไม่มี (Missing) หรือ Keyword ไหนที่คุณมีแต่ยังอ่อนกว่าคู่แข่ง (Weak) การรู้เช่นนี้จะช่วยให้คุณเข้าใจธรรมชาติของการแข่งขันด้วยการใช้ Keyword มากขึ้น
12. เช็ก Backlink
ไม่ต่างกันกับการเช็ก Keyword Gap ที่คุณสามารถรู้วิธีการเชื่อมโยง Backlink ของคู่แข่งได้ว่าเหนือจากคุณในด้านใดบ้าง อีกทั้งการกลับมาเช็กคุณภาพ Backlink ของเว็บไซต์ตัวเอง เพื่อดูว่าควรปรับปรุงส่วนไหน มีลิงก์ใดบ้างที่ไม่มีประสิทธิภาพก็จะช่วยให้คุณสามารถนำปัญหาที่เกิดขึ้นไปจัดการแก้ไขได้ในภายหลัง ซึ่งเรื่องนี้จะส่งผลต่อการทำ SEO โดยตรง สามารถอ่านบทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Backlink ได้ที่บทความ Backlink สำคัญกับการทำ SEO อย่างไร?
จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการกลับมาเช็ก Backlink ของคุณใหม่อีกครั้งอาจมีผลทำให้ Ranking เพิ่มขึ้นได้ด้วย อีกทั้งการเช็ก Broken Link จะช่วยให้เรารู้ได้ว่าควรจะตามไปแก้ไขในจุดใดเพื่อเรียกคะแนนจาก Search engines กลับคืนมา
13. ปรับปรุงหน้าเว็บไซต์ที่ใช้มานาน
นับเป็นอีกหนึ่งกระบวนการที่เรียกว่า “On Page SEO Checker” ซึ่ง Semrush ก็มี Tools ภายใต้ชื่อเดียวกันนี้ให้บริการ เพื่อตรวจสอบว่าคุณควรปรับปรุงทางฝั่ง On Page อย่างไรบ้างเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด (แน่นอนว่ามีความครอบคลุมในหลายเรื่อง) ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุง Content, ปรับรูปภาพ, ตั้งชื่อ Image Title และ Image Alt text ใหม่, การทำ Voice Search และอื่น ๆ
14. อย่าให้มี 404 page not found
404 page not found เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นบนหน้าเว็บไซต์ ไม่ว่าจะด้วยกรณีใดก็ตาม การแก้ไขให้รวดเร็วที่สุดจะยิ่งส่งผลดีกับตัวเว็บไซต์มากขึ้นเท่านั้น โดยคุณสามารถเช็กได้ผ่าน Google Search Console ในหัวข้อ “ความครอบคลุม” และดูในหัวข้อ “ข้อผิดพลาด” ได้เลย
15. เฝ้าสังเกตการจัดอันดับ
หรือในภาษาอังกฤษเรียกว่า “Monitor Rankings” เป็นการใช้ Tools ช่วย Tracking เพื่อให้คุณได้เห็นภาพอย่างชัดเจนต่อผลค้นหา (Organic search results) ที่เกิดขึ้นต่อเว็บไซต์ อีกทั้งยังฉายให้เห็นภาพจัดอันดับของเว็บไซต์ ไปจนถึงการเช็กอันดับจาก SERP (Search Engine Results Page) การ Tracking ลักษณะนี้จะยิ่งช่วยให้เราสามารถรับรู้ถึงจุดยืนของเรามากขึ้น และแน่นอนว่าข้อมูลที่มีค่าเหล่านี้ จะช่วยให้เราสามารถหาจุดอ่อนและจุดแข็งของเราได้เพื่อนำไปใช้วางกลยุทธ์ต่อไป
16. โอกาสต่อยอด Content
ความจริงแล้วการทำ SEO Audit ไม่ได้มีเพียงแค่เนื้อหาเชิง Technical SEO เท่านั้นแต่ยังมีเรื่องของการสร้าง Content ภายในเพื่อผลักดันและต่อยอดได้อีกมากมาย การดูว่า Content ไหนควรปรับแก้จุดใด เชื่อมโยงกับอะไรได้บ้าง คือสิ่งที่จะทำให้การ SEO มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ Content เก่า ๆ ที่คุณสามารถอัปเดตเนื้อหาเพิ่มเติมได้ ทั้งยังสามารถรู้ได้ด้วยว่า Content กลุ่มไหนที่คุณควรโฟกัสเพื่อสร้างจุดเด่นให้เว็บไซต์ของคุณ
สรุป SEO Audit สำคัญกับเราอย่างไร
SEO Audit ไม่ต่างอะไรกับการเก็บตกจุดที่ผิดพลาดและบอกวิธีแก้ไขให้เราใหม่ ซึ่งไม่มีวันรู้เลยว่าการสร้างเว็บไซต์หรือผลิต Content จะก่อให้เกิดผลลัพธ์แบบไหน ด้วยเหตุนี้การได้นำข้อมูลที่มีกลับมา Recheck ใหม่จะช่วยให้เราได้รู้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่ควรปรับปรุง
โดยหากคุณได้ปรับปรุงเว็บไซต์ตาม Checklist ที่ให้ไปแล้วล่ะก็ มั่นใจได้เลยว่าเว็บไซต์ของคุณก็มีโอกาสกลับมาไต่อันดับขึ้นได้อย่างรวดเร็วกว่าเดิมแน่นอน