ทุกการทำ SEO มักมีเทคนิคต่าง ๆ เพื่อให้เว็บไซต์ถูกใจเครื่องมือค้นหาอย่าง Google และผลักดันตัวเว็บไซต์จนขึ้นติดอันดับสูง ๆ บนหน้าผลการค้นหา (SERP) ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงเว็บไซต์ในส่วนของ On-Page / Off-Page, การเขียนเนื้อหา (Content) ที่มีคุณภาพมาประกอบบนหน้าเว็บไซต์, การใช้งาน Backlink หรือการปรับปรุงเว็บไซต์ให้เป็นไปตามหลัก Technical SEO ซึ่งในแง่มุมนี้วิธีการเหล่านี้นับเป็นวิธีที่ดีที่เป็นมิตรกับทั้งผู้ใช้งานและเครื่องมือค้นหา
แต่ในอีกด้านย่อมต้องมีวิธีการที่ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นไปตามหลักการที่เครื่องมือค้นหาต้องการ หรือที่รู้จักกันในชื่อ SEO สายดำ (Black Hat SEO) ซึ่งเป็นเทคนิคที่ผลักดันให้เว็บไซต์ได้ติดอันดับสูง ๆ บนหน้าผลการค้นหาได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะถูกเครื่องมือค้นหาอย่าง Google ลงโทษและแบนได้เช่นกัน และหนึ่งในเทคนิคของ SEO สายดำที่ควรหลีกเลี่ยง ถ้าไม่อยากให้เว็บของคุณโดนโทษจาก Google ที่เรียกว่า “Cloaking” ซึ่งในบทความครั้งนี้เราจะพาไปรู้จักกับเทคนิคนี้กันว่ามันคืออะไร มีลักษณะการทำงานอย่างไร เพื่อป้องกันไม่ให้เว็บไซต์ของคุณเสี่ยงถูกลงโทษและแบนได้
Cloaking คืออะไร
Cloaking เป็นเทคนิคที่ทำให้รายการเนื้อหาที่แสดงบนเว็บไซต์ให้แตกต่างกันระหว่างผู้ใช้งานกับเครื่องมือค้นหาที่เข้ามาเก็บข้อมูล (Google bot) และยังเป็นการผลักดันให้เว็บไซต์ถูกเลื่อนอันดับบนหน้าผลการค้นหาอีกด้วย หลักการทำงานของเทคนิคนี้แบบเข้าใจง่าย ๆ เลยคือ จะแสดงผลเนื้อหาบนเว็บไซต์ที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์การทำ SEO ให้เครื่องมือค้นหา (Search Engine) ได้เห็น เพื่อเพิ่มคะแนนอันดับให้กับเว็บไซต์ได้อย่างต่อเนื่อง แต่ในขณะเดียวกันก็แสดงเนื้อหาอีกแบบหนึ่งที่แตกต่างกันให้กับผู้ใช้งานที่เข้าชมเว็บไซต์
แน่นอนว่าเทคนิคอย่าง Cloaking เองก็เป็นหนึ่งในหมวดหมู่ของ SEO สายดำ (Black Hat SEO) เป็นเทคนิคที่ใช้ประโยชน์จากจุดอ่อนของเครื่องมือค้นหาให้เกิดประโยชน์สูงสุด แต่ในขณะเดียวกันก็มีความเสี่ยงที่ต้องแบกรับ หากถูกเครื่องมือค้นหาจับได้เช่นกัน
โดยส่วนมากแล้วเว็บไซต์ที่ใช้งานเทคนิค Cloaking มักมีลักษณะที่ต้องการซ่อนเนื้อหาที่ผิดกฎหมายหรือไม่พึงประสงค์จากเครื่องมือค้นหา ตัวอย่างเช่น เว็บไซต์ที่มีเนื้อหาสื่อลามก (18+) ที่เรียกกันว่า Pornographic หรือเว็บไซต์การพนันที่ต้องการดึงดูดผู้เข้าชมมาร่วมด้วยเช่นกัน
ลักษณะการทำงานของ Cloaking มีอะไรบ้าง ?
การทำงานของ Cloaking ในเชิง SEO มีด้วยกันหลากหลายรูปแบบและทุกรูปแบบถือว่าเข้าค่ายหลักการที่ไม่ถูกต้อง ที่เครื่องมือค้นหาอย่าง Google ไม่ต้องการด้วยเช่นกัน โดยลักษณะการทำงานมีดังต่อไปนี้
- การซ่อนข้อความ (Implementing Hidden Text)
การซ่อนข้อความเป็นเทคนิคที่พบเห็นได้บ่อยในเว็บไซต์ที่ทำ SEO สายดำ (Black Hat SEO) โดยมักมีการใช้สีตัวอักษรให้เหมือนกับสีพื้นหลังของเว็บไซต์ หรือบางเว็บมีการใช้งาน JavaScript หรือ CSS เพื่อปกปิดข้อความไม่ให้ผู้ใช้งานเห็น แต่เครื่องมือค้นหาเห็นได้ โดยเนื้อหาที่ถูกซ่อน มักเป็นข้อความหรือเนื้อหาที่สแปม Keyword หรือที่เรียกกันว่า Keyword stuffing ให้เครื่องมือค้นหาเห็น เพื่อเพิ่มอันดับให้กับเว็บไซต์
- User Agent Cloaking
ในกรณีของการใช้เทคนิค User Agent Cloaking มักมีโปรแกรมที่มาควบคู่ด้วยเสมอที่เรียกว่า “User Agent” โดยตัวโปรแกรมนี้จะถูกใช้แทนผู้ใช้งานทั่วไป ทำหน้าที่ในการประเมินผู้เข้าชมเว็บไซต์ และกำหนดว่าจะแสดงเนื้อหาเวอร์ชันใดของเว็บไซต์ที่ถูกซ่อน หรือถูกควรนำเสนอ ขั้นตอนนี้จะถูกดำเนินการผ่านรหัสไปยังตัวเซิฟเวอร์โดยตรง เมื่อผู้เข้าชมถูก ระบุว่าเป็นบอท (Crawl bot) ที่เข้ามาเก็บข้อมูลเพื่อจัดอันดับเว็บไซต์ ระบบจะแสดงเนื้อหาที่ถูกเตรียมไว้ให้เห็น โดยเนื้อหาดังกล่าวที่บอทเห็นจะไม่เหมือนกับที่ผู้ใช้งานทั่วไปที่เป็นคนเข้ามาเห็น
- การปิดบัง IP (IP Cloaking)
หนึ่งในรูปแบบของการใช้เทคนิค Cloaking ที่ค่อนข้างธรรมดาและพบเห็นได้ในการทำ SEO โดยการทำงานของการปิดบัง IP คือเมื่อผู้ใช้งานเข้าสู่หน้าเว็บไซต์ที่ใช้เทคนิคนี้ จะถูกดำเนินการผ่านการตั้งค่า .htaccess ผ่านบันทึกการแปลง DNS เพื่อบันทึกการเปลี่ยนแปลงเส้นทางของผู้ใช้งาน ให้เข้าสู่อีกเว็บไซต์หนึ่งได้อย่างราบลื่นนั้นเอง
- HTTP Accept-Language Cloaking
การปกปิด HTTP Accept-Language คือเทคนิคการ Cloaking ที่มารูปแบบการตรวจสอบส่วนหัว HTTP ของผู้ใช้งาน เพื่อกำหนดว่าผู้ใช้งานดังกล่าว เป็นผู้ใช้งานทั่วไปหรือเป็นบอท (Crawl bot) ของเครื่องมือค้นหา ในกรณีที่ตรวจพบว่าเป็นบอทของเครื่องมือค้นหา เนื้อหาของหน้าเว็บไซต์จริงจะถูกปกปิดด้วยเนื้อหาเว็บไซต์ที่ซ่อนไว้ (Cloaked) เพื่อป้องกันไม่ให้บอทของเครื่องมือค้นหาเห็นเนื้อหาจริงที่ผู้ใช้งานทั่วไปเห็นได้นั้นเอง
โดยเทคนิคนี้มักถูกใช้เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบของเครื่องมือค้นหาอย่าง Google แน่นอนว่าในแง่มุมหนึ่งการแสดงเนื้อหาที่ถูกเตรียมไว้ให้เครื่องมือค้นหาเห็นนั้น ช่วยผลักดันอันดับเว็บไซต์ให้ได้เป็นอย่างดี แต่ในอีกด้าน เทคนิคนี้ถือเป็นการละเมิดนโยบายของเครื่องมือค้นหาเช่นกัน หากถูกตรวจพบว่าใช้ อาจจะถูกลงโทษหรือถูกแบนเว็บไซต์ถาวรได้เช่นกัน
ทำไมถึงควรหลีกเลี่ยง Cloaking
Cloaking เป็นหนึ่งในเทคนิคของ SEO สายดำ (Black Hat SEO) ที่ช่วยผลักดันเว็บไซต์ให้ติดอันดับสูง ๆ บนหน้าผลการค้นหาได้อย่างรวดเร็ว แต่ในการทำงานจริง SEO สายดำถือว่าเป็นการละเมิดแนวทางและหลักการของเครื่องมือค้นหา (Search Engine) อย่าง Google หากมีการตรวจสอบและพบว่ามีเว็บไซต์ที่ใช้เทคนิค SEO สายดำ ในการปิดบังเพื่อหลอกเครื่องมือค้นหาให้ได้อันดับสูง ๆ อาจทำให้เว็บไซต์นั้นถูกลงโทษ โดยเริ่มจากการลดอันดับ และไปจนถึงการลบอันดับเว็บไซต์ไม่ให้ปรากฏขึ้นบนหน้าผลการค้นหาอีกเลย
ดังนั้นการใช้งานเทคนิค Cloaking ในการทำ SEO ไม่ใช่ทางเลือกที่ดีเท่าไร สำหรับเว็บไซต์ที่ต้องการความสำเร็จในระยะยาว อย่างเว็บไซต์ธุรกิจ เพราะมันอาจทำให้อันดับเว็บไซต์ลดลงแทนที่จะเพิ่มขึ้น เพื่อรักษาความน่าเชื่อถือและความสำเร็จในระยะยาวของเว็บไซต์ ควรหลีกเลี่ยงเทคนิค Cloaking และยึดหลักการที่เครื่องมือค้นหาอย่าง Google ต้องการ
แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเว็บไซต์มีการใช้งาน Cloaking
มีหลากหลายวิธีการที่เจ้าของเว็บไซต์สามารถตรวจสอบว่าเว็บไซต์ใดกำลังใช้งานเทคนิค Cloaking หรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น สามารถเปรียบเทียบผลการค้นหาในหน้าผลการค้นหาของเครื่องมือต่าง ๆ กับหน้าเว็บไซต์จริง ตัวอย่างข้อความที่ทาง Google แสดงขึ้นตามคำค้นหาจะถูกเน้นเป็นตัวหนา หรือ Keyword ให้เปรียบเทียบกับเนื้อหาที่แสดงบนหน้าเว็บไซต์ว่าตรงกับข้อความนี้หรือไม่ หากไม่ตรงกันให้สันนิฐานได้เลยว่าเว็บไซต์ดังกล่าวมีการใช้งานเทคนิค Cloaking
หากวิธีการเบื้องต้นที่บอกดูใช้งานยากไป อาจจะใช้เครื่องมือตรวจสอบก็ได้ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น Sitechecker, Small SEO Tools และ DuliChecker ถึงแม้เครื่องมือเหล่านี้จะมีบางตัวที่มีการเสียค่าใช้จ่าย แต่ก็มีบางส่วนสามารถตรวจสอบได้ฟรีด้วยเช่นกัน หลักการตรวจสอบนั้นง่ายมาก เพียงแค่สแกน URL ของหน้าเว็บที่ต้องการจะตรวจสอบ สคริปต์หรือโค้ดที่ซ่อนอยู่จะแจ้งเตือนขึ้นทันที หากหน้าเว็บไซต์นั้นใช้งานเทคนิค Cloaking
บทสรุป Cloaking เทคนิคการทำ SEO ที่ปิดบังเว็บไซต์
โดยสรุปแล้ว Cloaking คือเทคนิคการทำ SEO ที่ใช้เวอร์ชันเนื้อหาของเว็บไซต์ที่จะแสดงให้แตกต่างกันระหว่างผู้ใช้งานทั่วไปและเครื่องมือค้นหา เป็นเทคนิคที่ใช้เพื่อเพิ่มอันดับในหน้าผลการค้นหา โดยการทำงานจะเป็นการนำเสนอรูปแบบหนึ่งของหน้าเว็บที่ตรงตามหลักเกณฑ์ที่เครื่องมือค้นหาต้องการในการเพิ่มอันดับ แต่จะแสดงเนื้อหาที่แตกต่างให้กับผู้ใช้งานทั่วไป แต่อย่างไรก็ดีเทคนิคก็ยังอยู่ในหมวดหมู่ของ SEO สายดำ (Black Hat SEO) ที่ละเมิดหลักการของเครื่องมือค้นหา (Search Engine) หากยังมีการนำมาใช้งาน และถูกจับได้อาจจะเสี่ยงถูกลดอันดับ จนไปถึงการแบนไม่ให้เว็บแสดงบนหน้าผลการค้นหาได้เช่นกัน
ดังนั้นเทคนิค Cloaking ไม่ใช่แนวทางการทำ SEO ที่ดีสำหรับเว็บไซต์ที่ต้องการความสำเร็จระยะยาว เพราะนอกจากจะมีความเสี่ยงแล้ว ยังไม่ได้ให้ผลดีที่ต้องการในระยะยาวด้วยเช่นกัน ถ้าเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงเทคนิคนี้ แล้วเลือกทำ SEO สายขาวตามแนวทางที่ควรจะเป็น ซึ่งจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดแล้วที่จะทำให้เป้าหมายของเว็บไซต์เป็นไปได้