ปฏิเสธไม่ได้ว่าธุรกิจที่ประสบความสำเร็จได้ ย่อมต้องมีแผนทางการตลาด และการดำเนินการที่แม่นยำและมีประสิทธิภาพเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสังคมออนไลน์ที่การสื่อสารมีบทบาทสำคัญมากต่อการตลาดในปัจจุบัน ที่ลูกค้าหรือผู้บริโภคเปรียบได้เหมือนดั่งพระเจ้า เพราะพวกเขาสามารถบอกเล่าบอกต่อเกี่ยวกับธุรกิจนั้น ๆ จนทำให้เป็นที่รู้จักได้มากขึ้น และยังทำยอดขายให้กับธุรกิจได้ดียิ่งกว่าเดิม ซึ่งการสร้างความสัมพันธ์ และการสื่อสารกับลูกค้าจึงกลายเป็นสิ่งที่ธุรกิจต้องให้ความสำคัญมากขึ้น และนั้นคือจุดเริ่มต้นของ “Community marketing” กลยุทธ์ทางการตลาดแบบชุมชน ที่พร้อมจะสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า การที่ธุรกิจมีชุมชนที่แข็งแกร่งย่อมทำให้พวกเขาสามารถจัดการแผนการตลาดในการนำไปสู่ความสำเร็จของธุรกิจได้ง่ายมากยิ่งขึ้น
ดังนั้นในบทความครั้งนี้เราจะไปพาคุณไปรู้จักกับกลยุทธ์ทางการตลาดแบบชุมชนกัน ว่ามันคืออะไร มีความสำคัญกับธุรกิจมากน้อยแค่ไหน และถ้าธุรกิจสนใจอยากลองทำแผนการตลาดนี้ขึ้นมา ต้องเริ่มและเตรียมตัวอย่างไรบ้าง
Community marketing คืออะไร?
Community marketing (การตลาดแบบชุมชน) คือกลยุทธ์ทางการตลาดรูปแบบหนึ่ง ที่เน้นไปการสร้างและรักษาความสัมพันธ์กับกลุ่มเป้าหมายหรือลูกค้าเอาไว้ โดยไม่ได้เน้นแค่เพียงแค่การต้องขายสินค้าและบริการให้ได้เท่านั้น แต่ยังมุ่งเน้นไปที่การสร้างความภักดี ความไว้วางใจให้กับผู้คน รวมไปถึงการรวมผู้ที่มีความสนใจและรักในแบรนด์ธุรกิจหรือผลิตภัณฑ์
เมื่อพูดถึง “ชุมชน” ในบริบทนี้ หมายถึงกลุ่มของผู้คนที่มีความสนใจ มีความรู้สึก หรือมีความต้องการที่คล้ายคลึงกัน และมักจะมีการสื่อสารพูดคุยแลกเปลี่ยนระหว่างกันอยู่เสมอ เพื่อให้เข้าใจและเห็นภาพโดยรวมของการตลาดนี้ง่ายยิ่งขึ้น ลองนึกถึงภาพร้านกาแฟสักที่หนึ่ง ที่เราและเพื่อน ๆ ชอบไปนั่งเล่น และแชร์เล่าประสบการณ์ในชีวิตประจำวัน ร้านกาแฟนั้นเปรียบเสมือน “ชุมชน” ของเรา และเราก็มักจะแนะนำร้านกาแฟนั้นให้กับเพื่อน ๆ มาได้ลองนั่งพูดคุยเหมือนกัน นี่คือตัวอย่างง่าย ๆ ของการตลาด Community ที่เราเจอได้ในชีวิตประจำวัน
ดังนั้นกลยุทธ์ทางการตลาดแบบชุมชนนี้ ไม่เพียงแค่เป็นแผนการตลาดทั่วไปเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์และความภักดียั่งยืนกับลูกค้า ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจของคุณสามารถอยู่ได้ยั่งยืนและเติบโตได้ในระยะยาว
Community marketing มีความสำคัญอย่างไรต่อธุรกิจ?
สำหรับธุรกิจแล้ว ลูกค้าเปรียบเสมือนดั่งพระเจ้าเสมอ การทำยอดขายจากผู้บริโภค หรือการสร้างสัมพันธ์กับลูกค้าได้ย่อมเป็นผลดีกับธุรกิจ โดยในปัจจุบัน ยุคที่อินเทอร์เน็ตเข้าถึงได้ง่ายแบบนี้ ใครต่างก็ใช้งานได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นท่องโลกเว็บไซต์ พูดคุยสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย ทำให้ผู้คนสามารถเข้าถึงกันได้ง่ายกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการพูดคุยสินค้า บริการ หรือการบอกต่อสิ่งดี ๆ ที่ได้จากธุรกิจ รวมไปถึงการพูดถึงเชิงแง่ลบที่ทำให้ธุรกิจเสียหายได้หนักด้วย การบอกต่อปากต่อปากของลูกค้าหรือผู้บริโภคมักมีความน่าเชื่อถือเสมอในสายตาของลูกค้า ดังนั้นการตลาด Community จึงกลายเป็นทางเชื่อมต่อธุรกิจกับลูกค้า ที่สามารถสร้างสัมพันธ์ที่ดี เพื่อให้ธุรกิจเติบโตไปได้ด้วยดี
- สร้างความไว้วางใจ: การพูดคุยสื่อสารและรับความคิดเห็นของลูกค้าโดยตรงผ่านชุมชนออนไลน์ จะช่วยให้ธุรกิจสามารถสร้างความไว้วางใจให้กับลูกค้าได้ เพราะลูกค้าจะมองว่าธุรกิจใส่ใจ และยอมเชื่อใจธุรกิจที่ใส่ใจตนเอง
- เพิ่มโอกาสการขาย: ลูกค้าที่มีความสัมพันธ์ที่ดีและผูกพันกับชุมชนธุรกิจมักจะแนะนำสินค้าหรือบริการให้กับเพื่อน ๆ หรือผู้อื่นเสมอ ซึ่งเป็นการสร้างยอดขายเพิ่มได้อย่างดี ผ่านการบอกปากต่อปาก
- รับฟังและปรับปรุง: การได้สื่อสารระหว่างธุรกิจกับกลุ่มลูกค้าผ่านชุมชน จะช่วยให้ธุรกิจรับรู้ความต้องการและปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นได้อย่างตรงจุด สามารถนำมาปรับปรุงสินค้าและบริการให้ดีขึ้นได้ เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกดีมากขึ้นเมื่อมาเลือกใช้งานกับธุรกิจของคุณ
- สร้างภาพลักษณ์ที่ดี: การมีกลุ่มชุมชนที่แข็งแกร่ง พร้อมทั้งการพูดคุยสื่อสารแลกเปลี่ยนที่ดี ช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับผู้คนภายนอก พร้อมทั้งเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับธุรกิจได้อย่างน่าเหลือเชื่อเลยทีเดียว
ถ้าสรุปและพูดให้เข้าใจได้ง่าย ในยุคที่สังคมออนไลน์มีอิทธิพลในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจของผู้บริโภค, การบอกต่อ, การแลกเปลี่ยนข้อมูล สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นส่วนสำคัญที่ธุรกิจต้องใส่ใจ การสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าผ่านการตลาดแบบชุมชนนี้ไม่เพียงแต่เป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่ดีเท่านั้น แต่ยังเป็นสิ่งที่ธุรกิจควรให้ความสำคัญเพื่อความยั่งยืนและความสำเร็จในระยะยาว
ข้อดีและข้อเสียของ Community marketing
การใช้งานการตลาดแบบ Community ในธุรกิจนับได้ว่าเป็นกลยุทธ์ที่น่าสนใจและมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับธุรกิจที่มองถึงระยะยาว แต่ถึงกระนั้นการใช้งานกลยุทธ์ทางการตลาดแบบชุมชน ย่อมมีข้อดีและข้อเสียที่พิจารณาในการใช้งานด้วยเช่นกัน
ข้อดี
ข้อดีอย่างแรกของการตลาดแบบชุมชนเลยคือ การสร้างความภักดีและความไว้วางใจให้กับลูกค้าได้เป็นอย่างมาก ด้วยการเข้าถึงและพูดคุยสื่อสาร ทำให้ธุรกิจสามารถเพิ่มโอกาสในการขายผ่านการพูดคุย แลกเปลี่ยนข้อมูล แล้วยังสามารถรับฟังความคิดเห็นต่าง ๆ เพื่อนำมาปรับปรุงแผนการตลาดถัดไปในอนาคตได้อีกด้วย แน่นอนว่าการตลาดแบบชุมชนนี้ยังช่วยลดต้นทุนในการตลาดหลาย ๆ ด้าน สามารถโปรโมทสินค้า โปรโมชั่น บริการต่าง ๆ ได้โดยตรง ไม่ต้องซื้อโฆษณาให้ยุ่งยาก รวมไปถึงยังสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับธุรกิจได้ ผ่านการสื่อสารแลกเปลี่ยนที่ดี
ข้อเสีย
ถึงแม้การตลาดแบบชุมชนจะมีข้อดีที่ดูน่าสนใจ แต่ย่อมมีข้อเสียและความเสี่ยงอยู่ด้วยเช่นกัน อย่างแรกเลยคือ ต้องใช้ระยะเวลาและทรัพยากรเป็นอย่างมาก รวมไปถึงการใช้กลุ่มบุคคลสร้างและดูแลชุมชน และหากดูแลไม่ดียังเจอความเสี่ยงด้วย เพราะหากจัดการไม่ดี สื่อสารได้ไม่ดี ก็ย่อมส่งผลเสียให้เกิดภาพลักษณ์ที่แย่กับกลุ่มลูกค้าได้ด้วยเช่นกัน ยังไม่นับในส่วนของความคาดหวังของกลุ่มลูกค้าในชุมชนด้วย หากทำตามได้ไม่ครบหรือไม่ดีพอเท่าที่พวกเขาต้องการ อาจจะกลายเป็นการตลาดที่ส่งผลเสียมากกว่าผลดีได้ด้วยเช่นกัน
วิธีสร้าง Community marketing ให้ประสบความสำเร็จ
ในยุคที่ลูกค้ามีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจของผู้บริโภค การใช้งานการตลาดแบบ Community อาจจะเป็นตัวเลือกที่ดีเลยก็ว่าได้ แต่การสร้างการตลาดแบบชุมชนที่ประสบความสำเร็จได้นั้นไม่ได้เป็นเรื่องของโชคแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องอาศัยการวางแผนและกระบวนการขั้นตอนที่เป็นระบบ โดยการทำตามขั้นตอนเหล่านี้
1. ทำความเข้าใจและเลือกกลุ่มเป้าหมาย
สิ่งแรกในการจะทำการตลาดแบบชุมชนเลยคือ การทำความเข้าใจ และวิเคราะห์กลุ่ม ลูกค้าหลักของธุรกิจว่าเป็นใคร ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดมากขึ้น ถ้าธุรกิจของคุณขายผลิตภัณฑ์อุปกรณ์กีฬา กลุ่มเป้าหมายของคุณอาจจะเป็นกลุ่มคนที่ชื่นชอบการออกกำลังกาย หรือชื่นชอบเล่นกีฬาต่าง ๆ เช่น กลุ่มวัยรุ่น หรือผู้ใหญ่ที่ต้องการรักษาสุขภาพให้ดี เป็นต้น การเลือกกลุ่มเป้าหมายมีความสำคัญอย่างมาก เพราะจะทำให้การตลาดแบบชุมชนสามารถดำเนินการไปได้ด้วยดี
2. เลือกแพลตฟอร์มสื่อสาร
สื่อออนไลน์ที่กลุ่มเป้าหมายหรือลูกค้าเลือกใช้งานกันนั้นมีหลากหลายมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเว็บบอร์ด, ฟอรั่ม หรือสื่อโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook Group, LINE Group รวมไปถึงการสร้างแอปพลิเคชันขึ้นมาเป็นของตัวเอง เพื่อใช้เป็นชุมชนในการพูดคุยแลกเปลี่ยน ยกตัวอย่างเช่น แอป Hoyolab ที่เป็นกลุ่มชุมชนสำหรับพูดคุยเรื่องเกม การตัดสินใจเลือกใช้แพลตฟอร์มสื่อสารในการตลาดแบบชุมชน ให้เข้ากับบริบทของธุรกิจ และการใช้งานหลักของกลุ่มเป้าหมาย ก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน
3. เริ่มสร้างสัมพันธ์ที่แข็งแกร่ง
ขั้นตอนนี้นับได้ว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมากกับธุรกิจที่จะใช้การตลาดแบบชุมชน เพราะการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าหรือกลุ่มเป้าหมาย นับเป็นเป้าหมายสำคัญของแผนการตลาดนี้ โดยการสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งกับลูกค้ามีด้วยกันหลากหลายวิธี ดังต่อไปนี้
- หาจุดร่วมกันให้เจอ: สิ่งแรกในชุมชนที่ธุรกิจควรต้องมองหาเลยคือ การหาจุดร่วมกัน อะไรเป็นจุดเด่นที่จะทำให้ผู้คนที่เข้ามาอยู่ในชุมชนสามารถสนใจ และรวมเป็นหนึ่งกันได้ นั้นและคือสิ่งที่คุณต้องทำ ยกตัวอย่างเช่น ชุมชนธุรกิจของคุณเป็นร้านกาแฟ คุณรู้แล้วว่าจุดร่วมกันคือ กาแฟ แต่จะทำอย่างไรกันละ ให้ผู้คนหันมาสนใจกาแฟนี้ได้ วิธีการมีหลายอย่างขึ้นอยู่กับธุรกิจว่าจะเลือกใช้งานแบบไหน ไม่ว่าจะเป็นการสร้าง Content แนวพูดคุยแลกเปลี่ยน หรือสร้างพื้นที่ให้พวกเขาได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเอง สิ่งเหล่านี้จะช่วยดึงดูดให้ผู้คนรวมเป็นหนึ่งกันได้ และจะทำให้ธุรกิจของคุณสามารถดำเนินแผนการตลาดแบบชุมชนต่อไปได้
- สร้างความน่าสนใจ: การสร้างสิ่งที่น่าสนใจ จะทำให้กลุ่มเป้าหมายในการตลาดแบบชุมชน สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยน และดึงดูดผู้คนเข้ามาเพิ่มมากขึ้นได้ ยิ่งเป็น Content ที่น่าสนใจและมีการให้แสดงความคิดเห็น จะยิ่งสร้างจุดร่วมกับกลุ่มเป้าหมาย และเชิญชวนสมาชิกใหม่ให้มาพูดคุย พร้อมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีของลูกค้ากับธุรกิจได้
- Content is King: คำกล่าวนี้ไม่เกินจริง ไม่ว่าจะทำอะไร Content จะเป็นแกนกลางของความสำคัญในทุกแผนการตลาดเสมอ ดังนั้นธุรกิจจึงต้องมีการสร้าง Content เป็นของตัวเองหรือตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย เพื่อการเติบโตของธุรกิจ และการใช้ในแผนการตลาดแบบชุมชนด้วย
- ใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์: ทุกแพลตฟอร์มสื่อสารที่คุณเลือกใช้งาน ย่อมต้องมีข้อดี หรือประโยชน์ของมันที่สามารถนำมาใช้กับการตลาดได้อย่างแน่นอน การดึงประสิทธิภาพเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ประโยชน์อย่างสูงสุด ร่วมเข้ากับการสร้าง Content จะทำให้แผนการตลาดนี้ดำเนินไปได้ด้วยดีแน่นอน
4. วัดผลและปรับปรุง
เมื่อเริ่มแผนการตลาดแบบชุมชนไปได้สักพัก ธุรกิจควรต้องทำการวัดผลและปรับปรุงด้วยเสมอ ด้วยการกำหนดเกณฑ์วัดผลบางอย่างขึ้นมา เช่น จำนวนของกลุ่มว่าต้องมีจำนวนสมาชิกเท่านี้ การพูดคุยแลกเปลี่ยนต้องอยู่ในระดับนี้ หรือยอดขายเพิ่มได้ประมาณนี้จากการใช้แผนการตลาดแบบชุมชน เป็นต้น เกณฑ์วัดเหล่านี้จะทำให้ธุรกิจมองเห็นภาพร่วมว่าแผนการตลาดแบบชุมชนเป็นได้ด้วยดีหรือไม่ หากไม่ถึงเกณฑ์ที่วัดไว้ จำเป็นต้องมานั่งไล่ดูกันทีละอย่างว่าเป็นเพราะอะไร พร้อมทำการปรับปรุงอย่างเร่งด่วน เพื่อไม่ให้แผนการตลาดนี้ส่งผลเสียต่อธุรกิจ
5. ติดตามและรักษาความสัมพันธ์
ขั้นตอนสุดท้ายไม่ได้มีอะไรมากมาย เพียงแค่หลังจากวัดผลและปรับปรุงเสร็จไประยะหนึ่งแล้ว และธุรกิจดำเนินแผนการตลาดนี้ไปได้ด้วยดี สิ่งถัดไปที่ธุรกิจควรต้องทำคือติดตามการทำงานอย่างต่อเนื่อง และรักษาความสัมพันธ์กับกลุ่มเป้าหมายและลูกค้าไว้เป็นอย่างดี เพราะพวกเขาจะช่วยทำให้ธุรกิจของคุณสามารถทำยอดขาย รวมไปถึงการเติบโตของธุรกิจได้อย่างยั่งยืนเลยทีเดียว
ธุรกิจใช้งาน Community marketing แล้วประสบความสำเร็จได้จริงหรือ ?
คำถามยอดนิยมกับทุกแผนการตลาด ว่าแผนการตลาดนี้ใช้แล้วประสบความสำเร็จได้จริงหรือ ทำไมพอลองมันดูยากเกินไปที่จะทำบ้าง กล่าวได้ว่า “การตลาดแบบชุมชน” เป็นแผนการตลาดสำคัญที่ขาดไม่ได้ในยุคปัจจุบัน ที่ผู้คนเข้าถึงกัน พูดคุยแลกเปลี่ยนสื่อสารกันได้ง่าย ๆ ผ่านโลกอินเทอร์เน็ต การที่ผู้บริโภคหรือผู้คนเป็นผู้ตัดสินธุรกิจแบบนี้ การจะตอบคำถามว่า “การตลาดแบบชุมชน ใช้งานแล้วจะประสบความสำเร็จได้จริงหรือไม่” คงขึ้นอยู่กับภาคธุรกิจว่ามีการจัดการและบริหารอย่างไร แต่เพื่อให้คุณมั่นใจว่าแผนการตลาดนี้ทำแล้วประสบความสำเร็จได้จริง เราจะยกตัวอย่างธุรกิจที่ใช้งานการตลาดนี้แล้วประสบความสำเร็จมาให้ดูกัน
- AIS PLAY: แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งวิดีโอที่เปิดให้บริการฟรีแก่ลูกค้า AIS ทุกคน โดยทางธุรกิจอย่าง AIS ได้เปิดและสร้างชุมชนผ่านการจัดกิจกรรมและแชร์เนื้อหาที่น่าสนใจบนแอปพลิเคชันของตัวเอง ทำให้ผู้ใช้งานมีการตอบกลับ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และแชร์ประสบการณ์ใช้งานกัน จนมีหลายคนหันมาสนใจและใช้งาน AIS PLAY รวมไปถึงการสมัครเป็นสมาชิกกับทาง AIS มากยิ่งขึ้น
- Dek-D.com: เว็บไซต์ที่เน้นไปทางกลุ่มวัยรุ่น มีการสร้างชุมชนเสมือนผ่านการเขียนนิยาย, บทความ, และการสื่อสาร พูดคุยแลกเปลี่ยนในฟอรั่ม ทำให้วัยรุ่นมีพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมไปถึงการแชร์ประสบการณ์ชีวิตจริงกันเป็นอย่างมาก และทำให้ Dek-D สามารถดึงกลุ่มเป้าหมายเหล่านี้มาเป็นผู้ใช้งาน และลูกค้าหลักได้อยู่ตลอดเวลา
จากตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้น คือกลุ่มธุรกิจที่ได้ใช้งานการตลาดแบบชุมชนแล้วประสบความสำเร็จได้ในระดับหนึ่ง แน่นอนว่ายังมีอีกหลายธุรกิจที่ใช้งานการตลาดแบบชุมชนแล้วประสบความสำเร็จได้ ไม่ว่าจะเป็น Kaidee, Pantip, Nike ฯลฯ เพราะธุรกิจเหล่านี้เล็งเห็นถึงความสำคัญว่ากลุ่มผู้คนหรือผู้บริโภคจะเป็นคนตัดสินทิศทางของธุรกิจได้ว่าจะไปในทางที่ดีหรือทางที่แย่ลง เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น ลองพิจารณาธุรกิจ Kaidee ที่เป็นแพลตฟอร์มซื้อขายของมือสองออนไลน์ ที่มีชุมชนของผู้ขายและผู้ซื้อที่ใหญ่ยิ่งขึ้นทุกวัน การที่ Kaidee สร้างชุมชนที่เข้มแข็ง ทำให้ผู้คนเริ่มมองว่าเป็นแพลตฟอร์มที่น่าเชื่อถือ และยิ่งทำให้การซื้อขายในแพลตฟอร์มนั้นเป็นไปอย่างราบรื่น
หรือแม้แต่ Nike ที่เป็นแบรนด์ระดับโลก ก็ยังใช้เลือกใช้การตลาดแบบชุมชนผ่านการสร้างแอปพลิเคชัน Nike Training Club ที่เป็นชุมชนของคนที่รักการออกกำลังกาย ทำให้ผู้คนรู้สึกว่า Nike ไม่ได้เน้นขายสินค้าเท่านั้น แต่ยังสนใจในการสร้างคุณค่าที่ยั่งยืนให้กับลูกค้า ดังนั้นการใช้การตลาดแบบชุมชนไม่เพียงแต่จะช่วยให้ธุรกิจของคุณสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า แต่ยังสร้างความภักดีและความไว้วางใจที่จะทำให้ธุรกิจของคุณยั่งยืนและเติบโตได้ในระยะยาวได้ด้วยเช่นกัน
บทสรุป Community marketing การตลาดแบบชุมชน สร้างสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า
สรุปแล้วการตลาดแบบ Community หรือการตลาดแบบชุมชนเป็นกลยุทธ์ที่ไม่เพียงแต่เน้นการขายสินค้าหรือบริการ แต่ยังเน้นการสร้างความสัมพันธ์และความภักดีระหว่างแบรนด์และลูกค้า ซึ่งในระยะยาวจะทำให้ธุรกิจยั่งยืนและเติบโตอย่างมั่นคง การสร้างชุมชนออนไลน์ที่แข็งแกร่งจะทำให้ลูกค้ารู้สึกเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของ “ครอบครัว” ของธุรกิจ และเมื่อลูกค้ารู้สึกถึงความสัมพันธ์ที่ดี พวกเขาจะเป็นผู้สื่อสารที่ดีของแบรนด์ ในการเชิญชวน บอกต่อ และเป็นลูกค้าที่ยั่งยืนของธุรกิจ ดังนั้นหากธุรกิจของคุณต้องการให้เติบโตได้ในระยะยาวในยุคปัจจุบัน การตลาดแบบชุมชนจะเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและความภักดีที่ยั่งยืน เพราะสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ธุรกิจควรจะมี เพื่อให้ธุรกิจสามารถเติบโตขึ้นไปได้อีกขั้น