ครต่างก็รู้ดีว่า Google เป็นระบบ Search Engine ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และมีผู้คนเข้ามาทำเว็บไซต์กันอย่างมากมาย หลายเนื้อหา แต่การทำเว็บโดยเฉพาะยิ่งเว็บไซต์ที่ทำ SEO ผู้ทำเว็บต้องรู้อยู่แล้วว่าควรต้องทำสิ่งใด และไม่ทำสิ่งใดบ้างกับเว็บไซต์ แต่กับบางเว็บอาจจะยังไม่รู้ว่าหากคุณละเมิดกฏที่ทาง Google ได้ออกไว้ในการทำเว็บไซต์ คุณจะโดนบทลงโทษ Google Penalty ที่จะส่งผลเสียต่อเว็บของคุณอย่างร้ายแรง
Google Penalty คืออะไร?
Google Penalty คือ บทลงโทษจากทาง Google ที่จะให้กับเจ้าของเว็บไซต์ที่ไม่มีคุณภาพ เว็บไซต์ที่อาจจะสร้างอันตรายให้แก่ผู้ใช้งานหรือผู้เข้าชมเว็บ หรือหากให้เห็นภาพชัดก็คือเว็บไซต์ที่ไม่มีคุณภาพ ที่ไม่สร้างประโยชน์อะไรให้แก่ผู้ใช้งาน ส่วนใหญ่เว็บไซต์ที่จะได้รับบทลงโทษจะมีมักจะมีการใช้งานลิงก์ (Link) ที่ไม่มีคุณภาพ, เนื้อหา Content ไม่มีประโยชน์, เว็บมีการซ่อนเนื้อหา หรือ เว็บมีเนื้อหาที่แอบใส่จำพวกมัลแวร์หรือซอฟต์แวร์ไม่พึงประสงค์ เป็นต้น
เนื้อหาการลงโทษที่จะได้รับมีอยู่ 2 แบบคือ แบบเบาที่จะโดนคือ ลดอันดับการแสดงบนผลการค้นหา (SERP) เพื่อเป็นการดัดนิสัยและให้โอกาสกับเว็บไซต์ได้แก้ตัว และแบบหนักคือการแบนเว็บไซต์ไม่ให้ถูกเห็นอีกเลย โดยบทลงโทษที่จะโดน มักจะโดนแบบไม่รู้ตัวและไม่มีการบอกกล่าว หากคุณละเมิดกฏข้อห้ามจากทาง Google
นอกจากนี้ยังมีการให้ผู้ใช้งานบนโลกเว็บไซต์ได้เข้าไปแจ้งได้ หากเจอเว็บที่เข้าข่ายอันตรายหรือละเมิดกฏของทาง Google สามารถแจ้งได้ที่กับทาง Google Search Central
หากเว็บไซต์คุณทำ 15 ข้อเหล่านี้จะโดน Google Penalty
แนวทางที่ Google กำหนดให้กับการทำเว็บไซต์คือการเน้นในการสร้างเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ มีความน่าเชื่อถือ และคำนึงถึงในมุมมองของผู้ใช้งานเป็นหลัก เว็บไซต์ต้องไม่สร้างประสบการณ์เชิงลบหรือเป็นอันตรายกับผู้ใช้งาน ซึ่งหากคุณละเมิดสิ่งเหล่านี้ เว็บของคุณก็จะต้องได้รับผลลงโทษจาก Google Penalty ซึ่ง 15 ข้อห้ามที่ห้ามทำเด็ดขาดบนการเว็บไซต์ จะมีดังนี้
1. การปิดบังหน้าเว็บจริง
การปิดบังหน้าเว็บจริง คือ การนำเสนอหน้าเว็บที่ให้ผู้ใช้งาน (User) ได้เห็นอีกแบบหนึ่ง แต่กับตัวเก็บข้อมูลของ Google เห็นอีกแบบหนึ่ง ตัวอย่างเช่น เว็บไซต์ที่ผู้ใช้งานเห็นเป็นเว็บพนัน แต่กับทาง Google Bot เห็นเป็นเว็บอาหารมังสวิรัติ เป็นต้น โดยส่วนมากเว็บไซต์ที่มีการปิดบังหน้าเว็บจริงมักจะเป็นเว็บที่มีเนื้อหาผิดกฏหมาย และมีเนื้อหาภายในที่ต้องการให้ผู้ใช้งานได้เห็นโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นเหล่าเว็บไซต์พนัน หรือเว็บไซต์สื่อลามกอนาจาร ที่ต้องการนำเสนอให้ผู้ใช้งานได้เห็นและเข้าเว็บได้ตามปกติ โดยไม่ถูกทาง Google จับได้
2. การใช้งาน Doorway
Doorway คือหน้าเว็บไซต์ที่สร้างมาเพื่อหลอกผู้ใช้งาน (User) หรือผู้เข้าชมเว็บให้เห็นหน้าเนื้อหาเป็นแบบหนึ่ง แต่กับ Google Bot ได้เห็นเนื้อหาอีกแบบหนึ่ง โดยมุ่งเน้นไปการที่ให้ Google Bot เข้ามาเก็บข้อมูลเว็บไซต์เพื่อเพิ่มยอดอันดับ แต่เนื้อหาภายในเว็บไม่ได้มีประโยชน์อะไรเลย วิธีการนี้มักนิยมใช้ในการทำ SEO สายเทา ยกตัวอย่างเช่น
- การทำหน้าเว็บซ้ำกัน แต่เนื้อหาภายในดันเหมือนกัน
- การเข้าหน้าเว็บไซต์หนึ่ง แต่เมื่อเลื่อนผ่านไป จะพาไปยังอีกหน้าเว็บที่ไม่เกี่ยวข้อง
- การสแปม Keyword บนหน้าเว็บไซต์ที่มากเกินไป หรือมีการซ่อน Keyword ไม่ให้ผู้ใช้งานเห็น แต่ Google Bot เห็น
3. เว็บไซต์ที่แอบใส่เนื้อหาที่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้งาน
หากในหน้าเว็บไซต์มีเนื้อหาที่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้งาน อย่างการใช้ช่องโหว่ความปลอดภัยของเว็บ ให้มีการสอดแทรกเนื้อหาที่ทำให้ผู้ใช้งานเป็นอันตราย เช่น การแอบติดตั้งเนื้อหาหรือใช้งานลิงก์ (Link) ที่พาผู้ใช้งานไปยังเว็บไซต์ที่เป็นอันตราย หรือมีการแอบติดตั้งไวรัสกับผู้ใช้งาน ซึ่งแน่นอนว่าการทำแบบนี้เป็นการละเมิดกฏของทาง Google อย่างชัดเจน
4. ข้อความและลิงก์ (Link) ที่แอบซ่อน
การให้ข้อความหรือลิงก์ (Link) แอบซ่อนจากหน้าเว็บไซต์ ถือว่าละเมิดกฏของทาง Google อยู่แล้ว เพราะเว็บที่ทำแบบนี้มักจะมีเนื้อหาที่ไม่มีคุณภาพ หรือเน้นแต่จำนวนเนื้อหา Keyword และลิงก์ให้ทาง Google Bot เข้ามาเก็บข้อมูลเพื่อเพิ่มอันดับเว็บไซต์แต่เพียงอย่างใด ไม่ว่าจะเป็น
- การใช้ข้อความสีขาว รวมกับพื้นหลังสีขาว
- การซ่อนข้อความหลังรูปภาพ
- การใช้ CSS เพื่อจัดตำแหน่งข้อความ ไม่ให้แสดงบนหน้าจอเว็บไซต์
- การซ่อนลิงก์ โดยการลิงก์กับอักขระขนาดเล็กเพียงตัวเดียว ตัวอย่างเช่น –
วิธีการเหล่านี้ทำให้ Google Bot เข้ามาเก็บข้อมูลและเพิ่มอันดับเว็บได้ง่าย แต่จะถูกทาง Google จับได้ง่าย และถูกลงโทษได้เช่นกัน
5. การใช้ Keyword ในทางที่ผิด
การใช้ Keyword ในทางที่ผิดคือการใช้งานเหล่าตัวเลข หรือ Keyword ที่ไม่ตรงกับเนื้อหา เพื่อเพิ่มยอดอันดับเว็บไซต์บนผลการค้นหา (SERP) ของ Google โดยลักษณะการใช้งาน Keyword ที่ผิดจะมี
- เบอร์มือถือโทรศัพท์ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเนื้อหาใด ๆ บนหน้าเว็บ
- การใช้ Keyword ข้อความที่เป็นชื่อเมือง หรือภูมิภาคที่หน้าเว็บไซต์ เพื่อไต่อันดับบนผลการค้นหา
- การใช้คำที่ซ้ำกัน จนดูเหมือนการสแปม (Keyword Stuffing) และดูไม่มีความเป็นธรรมชาติทางภาษา เช่น Keyword คือ “หนังสือ” ข้อความที่เขียนลงไป เช่น “หนังสือคือชีวิต หนังสือคือพลัง หนังสือคือหนังสือ และหนังสือก็ยังเป็นหนังสืออยู่วันยังค่ำ”
6. การสแปมลิงก์และใช้งานลิงก์ไม่มีคุณภาพ
การใช้งานลิงก์ (Link) ถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ทาง Google มองว่าเป็นสิ่งที่ทำให้เว็บไซต์นั้นดูมีความน่าเชื่อถือได้เป็นอย่างดี แต่หากมีการใช้งานลิงก์ที่ไม่มีคุณภาพ หรือมีการสแปมลิงก์ที่มากเกินไป จนเข้าข่ายเหล่านี้จะถือว่าละเมิดกฏของทาง Google
- การซื้อขายลิงก์กันเพื่อเพิ่มยอดอันดับให้กับทางเว็บไซต์
- การแลกเปลี่ยนลิงก์ เช่น หากคุณให้ลิงก์มายังเว็บของเรา เราก็จะลิงก์ไปยังเว็บของคุณ หรือเว็บที่มีการจับคู่ หรือมีลิงก์ไปหากันเองมากเกินไปโดยไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใด ๆ
- การใช้โปรแกรมในการสร้างลิงก์อัตโนมัติขึ้นมา
- ลิงก์ที่พาไปยังเว็บไซต์ที่ไม่มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกัน
- บทความโฆษณาที่มีการใช้งานลิงก์บน Anchor Text ในการขายหรือเพิ่มยอดอันดับเว็บที่มากจนเกินไป
- ลิงก์ที่มี Keyword จำนวนมากเกิน หรือมีการซ่อนลิงก์ไม่ให้เห็น
7. การสแปมยอดเข้าถึงของเว็บไซต์ บนเครื่องมือคอมพิวเตอร์
เป็นการส่งยอดการเข้าถึงเว็บไซต์หรือที่เรียกว่า Traffic แบบปลอมให้กับทาง Google เพิ่มยอดอันดับเว็บไซต์ได้ เพราะ Google จะเห็นว่ามีผู้ใช้งานเข้ามายังเว็บนี้เยอะ โดยลักษณะจะมีการอ้างอิงตัวผู้ใช้งาน (User) ให้เข้ามายังเว็บไซต์ โดยมักจะแจ้งเตือนกับผู้ใช้งานว่า “ระบบของเราตรวจพบการเข้าใช้งานที่ผิดปกติจากเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของคุณ” ซึ่งเป็นตัวบ่งบอกว่ามีเว็บที่แอบอ้างผู้ใช้งาน เพื่อเพิ่มยอด Traffic ให้กับเว็บไซต์อยู่ ซึ่งสำหรับเว็บที่ทำแบบนี้จะถือว่าละเมิดกฏของทาง Google
8. มัลแวร์หรือซอฟต์แวร์ที่เป็นอันตราย
หากเว็บไซต์ใดมีการแอบใส่มัลแวร์ หรือแอบติดตั้งซอฟต์แวร์ที่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้งานเว็บแล้วละก็ Google จะไม่ปล่อยไปโดยเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นการทำปุ่มหลอกผู้ใช้งานว่า กดคลิก “ดาวน์โหลด” แล้วจะได้ดาวน์โหลดข้อมูลที่ต้องการ แต่พอกดคลิก กลับได้รับการติดตั้งอะไรบางอย่างที่ไม่พึงประสงค์ และเป็นอันตรายมาลงบนอุปกรณ์ของผู้ใช้งาน
9. เว็บไซต์ที่มีการใช้งานฟังก์ชันที่ทำให้เข้าใจผิด
บางเว็บไซต์มักมีการหลอกผู้ใช้งานบนหน้าเว็บ ให้เข้าใจผิดได้ อย่างการสร้างหน้าเว็บไซต์ที่บอกว่าหากกดใช้งานฟังก์ชันนี้จะไปพาไปยังเครื่องมือที่ต้องการ แต่เมื่อกดใช้งาน กลับไม่ได้พาไปยังเครื่องมือดังกล่าว แต่ไปโผล่ยังอีกเนื้อหาหนึ่งที่ไม่ได้เกี่ยวข้อง โดยมักจะพบได้บ่อย เช่น เว็บไซต์บอกว่ามีฟังก์ชันแปลภาษา หรือรวมไฟล์ Zip ให้แต่เมื่อกดใช้งานแล้วดันพาไปยังหน้าโฆษณาที่ไม่ได้เกี่ยวกับฟังก์ชันที่บอกไว้ เป็นต้น เว็บไซต์เหล่านี้ที่หลอกลวงผู้ใช้งานให้เข้าใจผิด และถือว่าละเมิดกฏของทาง Google
10. เนื้อหา Content ที่คัดลอกมา
เว็บไซต์บางเว็บ ที่ต้องการจะเพิ่มยอดอันดับ แต่ไม่คิดจะสร้างเนื้อหาของตัวเอง มักจะมีการไปหยิบเนื้อหา Content ที่มีคุณภาพมาจากเว็บที่มีอันดับสูงกว่ามาไว้บนเว็บของตัวเอง เพื่อเพิ่มยอดอันดับบนผลการค้นหา (SERP) แต่หารู้หรือไม่ ว่าการทำแบบนั้นเป็นการละเมิดกฏของทาง Google อย่างชัดเจน โดยเนื้อหาที่เข้าข่ายการคัดลอก จะมีดังต่อไปนี้
- เว็บไซต์ที่ไปคัดลอกเนื้อหาจากเว็บอื่นมา โดยไม่มีการเพิ่มเนื้อหาที่มีคุณค่าลงไปแต่อย่างใด รวมไปถึงการไม่อ้างอิงแหล่งที่มา
- เว็บไซต์ที่คัดลอกเนื้อหาจากเว็บอื่น แล้วมาแก้เล็กน้อย เช่น การใส่คำพ้อง หรือคำซ้ำลงไป แล้วโพสลงหน้าเว็บของตัวเองซ้ำ
- เว็บไซต์ที่ผลิต Content เนื้อหาซ้ำจากเว็บอื่น โดยเนื้อหานั้นไม่มีคุณภาพแก่ผู้ใช้งาน
- เว็บไซต์ที่มีแต่การลงไฟล์จำพวก ภาพ วิดีโอ หรือสื่อจากเว็บอื่น ๆ โดยไม่สร้างประโยชน์แก่ผู้ใช้งาน
11. การเปลี่ยนเส้นทางเว็บไซต์
เว็บไซต์ที่มีการส่งผู้ใช้งานไปยังหน้าเว็บที่ไม่ตรงกับสิ่งที่ผู้ใช้งานต้องการในตอนแรก โดยหน้าเว็บที่พาไปไม่มีความเกี่ยวข้องหรือเป็นอันตรายกับผู้ใช้งาน จะถือว่าข่ายละเมิดกฏของทาง Google โดยส่วนมากมักจะพบได้เวลาเข้าเว็บไซต์ที่ไม่มีความปลอดภัย เมื่อกดคลิกที่ใดบนหน้าเว็บ จะเด้งหน้าเว็บและพาเราไปยังอีกหน้าเว็บหนึ่งที่เราไม่ได้ต้องการ
12. เนื้อหาที่ถูกโปรแกรมอัตโนมัติสร้างขึ้น
Google ให้ความสำคัญกับเนื้อหาหน้าเว็บไซต์เป็นอย่างมาก และไม่ต้องการให้มีเนื้อหาที่ถูกสร้างมาจากโปรแกรมอัตโนมัติ และไม่มีประโยชน์ต่อผู้ใช้งาน ดังนั้นเว็บไซต์ที่มีการใช้งานโปรแกรมเพื่อสร้างเนื้อหา จำพวก บทความ ลงไปบนเว็บของตัวเอง เพื่อเพิ่มอันดับบนผลการค้นหา (SERP) ผ่านการเก็บข้อมูลของ Google Bot หากทาง Google จับได้จะถูกลงโทษได้เช่นกัน
13. Affiliate Pages ที่ไม่มีคุณภาพ
Affiliate Pages หรือหน้าเว็บที่เป็นตัวแทนการขายสินค้าหรือบริการ โดยส่วนมากเนื้อหาภายในหน้าเว็บดังกล่าวจะเป็นการรีวิวสินค้าหรือบริการ แล้วมีลิงก์ (Link) พาไปยังเว็บไซต์ผู้ขาย หากหน้าเว็บดังกล่าวมีเนื้อหาที่น้อย และไม่มีคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นการคัดลอกเนื้อหาหรือรีวิวสินค้ามาจากเว็บไซต์ผู้ขายโดยตรง จนไม่ได้ให้ประโยชน์ใด ๆ ต่อผู้ใช้งาน ก็ถือว่าเข้าข่ายละเมิดกฏของทาง Google ได้เช่นกัน
14. สแปมที่มาจากผู้ใช้งาน
บางครั้งการละเมิดกฏของทาง Google ก็ไม่ได้มาจากเว็บไซต์แต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่สามารถมาจากฝั่งผู้ใช้งานได้เช่นกัน โดยส่วนมากมักจะมาจากการสแปมเนื้อหาลงในช่องทางของผู้ใช้งานหรือที่เรียกกันว่า Comment ซึ่งบ่อยครั้งเหลือเกิน ผู้ทำเว็บมักจะไม่รู้ถึงเนื้อหาการสแปมจากผู้ใช้งาน เพราะฉะนั้นผู้ทำเว็บต้องพึ่งระวังในส่วนนี้ให้ดีด้วย ไม่ว่าจะเป็นการจำกัดข้อความ หรือจำนวนครั้งในลงเนื้อหาจากฝั่งผู้ใช้งาน เพื่อป้องกันปัญหาการสแปมจากผู้ใช้งาน
15. พฤติกรรมที่ส่อไปในทางอันตรายต่อผู้ใช้งาน
สิ่งสำคัญหนึ่งของทาง Google ที่ออกกำกับกฏนโยบายเหล่านี้ไว้คือ เพื่อให้เนื้อหาเว็บไซต์ไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้งาน แต่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าได้ว่ายังมีเว็บบางเว็บที่แอบทำพฤติกรรมที่ส่อไปทางอันตรายกับผู้ใช้งานไม่ว่าจะเป็น
- เนื้อหาที่ละเมิดลิขสิทธิ์
- การนำข้อมูลของผู้ใช้งาน ออกจากเว็บไซต์เพื่อไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นการขายต่อในกลุ่มตลาดมืด
- เว็บไซต์ที่สร้างเนื้อหาไม่มีประโยชน์
- เว็บไซต์ที่มีกลโกง เพื่อหลอกลวงผู้ใช้งาน ให้เสียเงินหรือข้อมูล
บทสรุปการลงโทษของ Google Penalty
Google Penalty เป็นบทลงโทษที่จะมีให้กับเว็บไซต์ที่ไม่มีคุณภาพ เว็บที่จ้องจะเอาแต่ประโยชน์ส่วนตัว โดยไม่สนใจผู้ใช้งาน หากพูดกันตามตรง สิ่งสำคัญหลักที่ทาง Google ต้องการอย่างแท้จริงบนการทำเว็บไซต์ คือการทำให้เว็บมีเนื้อหาคุณภาพ มีประโยชน์ และไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้งาน แค่สิ่งเหล่านี้เท่านั้นที่ Google ต้องการ
แต่บางเว็บมักแอบใช้ช่องโหว่ของเว็บมาเพื่อใช้ประโยชน์ส่วนตัว ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดีและผิด จึงทำให้ทาง Google ต้องกำกับและออกกฏข้อห้ามต่าง ๆ ในการทำเว็บไซต์ขึ้นมา เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ทำเว็บนำเว็บไปใช้ในทางที่ผิดได้ ซึ่งถ้าหากคุณไม่อยากโดนลงโทษโดย Google Penalty แล้วละก็อย่าละเมิดข้อห้ามเหล่านี้ของ Google โดยเด็ดขาด