ในยุคที่เทคโนโลยีก้าวหน้าแบบสุด ๆ เราเองก็คงจะรู้ได้ว่ามีวิธีการมากมายที่เหล่าองค์กรหรือธุรกิจต้องการจะแสวงหาข้อมูลของลูกค้าเพิ่มเติม ซึ่งก็มีทั้งวิธีที่ขาวสะอาดหรืออาจไม่ขาวสะอาดปะปนกันไปบ้าง และหนึ่งในนั้นคือ เรื่องวิธีการ “Phishing” ที่เราจะเห็นได้ว่ามันคือวิธีการที่ได้ผล ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักเป็นกลุ่มคนหรือกลุ่มธุรกิจที่ไม่หวังดีมักจะใช้วิธีนี้ในการฉกฉวยข้อมูลจากผู้บริโภค โดยที่เราอยากจะมาร์กตัวใหญ่ ๆ ไว้ตรงนี้เลยว่า วิธีการเช่นนี้จะไม่เกิดผลดีต่อธุรกิจของคุณในระยะยาวหากนำไปใช้งาน โดยในบทความนี้เป็นการพาผู้อ่านได้ทำความเข้าใจว่า มิติของการ Phishing นั้นจะส่งผลกระทบต่อด้านใดได้บ้าง
ความหมายของ Phishing คืออะไร?
“Phishing” หมายถึงการโจมตีทางอิเล็กทรอนิกส์ที่มีวัตถุประสงค์ในการหลอกล่อและขอข้อมูลส่วนตัวหรือข้อมูลที่สำคัญจากผู้ใช้งาน โดยวิธีโจมตีที่พบบ่อยคือการโจมตีผ่านทางอีเมลปลอม ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับอีเมลที่ถูกส่งมาจากองค์กรที่น่าเชื่อถือ หรือเว็บไซต์ปลอมที่คล้ายกับเว็บไซต์ของบริษัท ซึ่งผู้โจมตีจะทำการปลอมแปลงข้อมูลบางอย่างเพื่อล่อให้ผู้ใช้เชื่อมั่นโดยหลอกล่อเอาข้อมูลสำคัญจากเหยื่อไป ซึ่งวิธีการนี้สามารถทำได้อย่างหลากหลายเพื่อให้ได้ข้อมูลสำคัญของลูกค้า โดยในปัจจุบันตามบริบทที่มนุษย์ได้ใช้อินเทอร์เน็ตกันมากขึ้นจึงไม่แปลกเลยจะมีคนโดนการ Phishing ทุกวันและสามารถพบเจอได้ในทุกกลุ่มผู้ใช้งานในหลากหลายช่วงอายุที่ไม่เท่าทันเทคโนโลยี
ที่มา : cloudflare
ผลกระทบของการใช้ Phishing ใน Digital Marketing
การ Phishing อาจเรียกว่าเป็นด้านมืดก็ไม่ผิด โดยในวงการการทำ Digital Marketing ก็มีให้เห็นถึงเรื่องราวเหล่านี้เช่นกัน เนื่องจากเป็นสิ่งที่สามารถกระทำโดยใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทำให้ผู้โจมตีสามารถโจมตีองค์กรและลูกค้าอย่างง่ายดายและมีผลกระทบรุนแรงต่อธุรกิจโดยตรง ซึ่งต่อไปนี้คือเหตุผลที่การ Phishing ไม่ควรนำมาใช้ในบทบาทของการทำ Digital Marketing เพราะถึงแม้คุณจะต้องการข้อมูลจากลูกค้าหรือผู้ใช้บริการมากแค่ไหนก็ตาม แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็ดูจะไม่คุ้มค่าเลยในระยะยาว เนื่องจากสิ่งที่จะเกิดขึ้นดังนี้
- สร้างความเสียหายต่อส่วนตัวและข้อมูลส่วนบุคคล : อาจทำให้ผู้ใช้เสี่ยงต่อการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว ทำให้มีความเสียหายต่อสิทธิและความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้
- สร้างความเสียหายต่อองค์กร : ส่งผลให้องค์กรเสียเสียหายทางการเงินและทำให้สูญเสียความน่าเชื่อถือจากลูกค้า โดยในระยะยาวนั้นเรียกได้ว่าไม่คุ้มค่าเลยแม้แต่นิดเดียว เนื่องจากสิ่งเหล่านี้ได้สร้างประสบการณ์ที่ไม่ดีให้กับลูกค้าแล้วตั้งแต่ต้น จนทำให้ลูกค้าอาจไม่เลือกใช้บริการของคุณอีกต่อไปในอนาคต
- สูญเสียความไว้วางใจจากลูกค้า : ลูกค้าสูญเสียความไว้วางใจในการติดต่อกับองค์กร ทำให้ลูกค้าเกิดความไม่พอใจและอาจละทิ้งการใช้บริการจากธุรกิจ
- การทำลายชื่อเสียงขององค์กร : ทำให้ชื่อเสียงขององค์กรถูกทำลาย ทำให้องค์กรเสียเสียหายในระยะยาวเนื่องจากก่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีให้กับผู้บริโภค
- ผลกระทบต่อยอดค้าขาย : อาจส่งผลต่อยอดค้าขายขององค์กร ไม่ว่าจะเป็นยอดขายตกต่ำ ขาดทุน จนทำให้อยู่ในสภาพที่ไม่เสถียรต่อธุรกิจ
ดังนั้นการ Phishing จึงเป็นสิ่งที่ไม่ตอบโจทย์อย่างยิ่งหากคุณจะทำธุรกิจในระยะยาว เพราะส่วนหนึ่งแล้ว มันอาจเป็นเรื่องของจรรยาบรรณในการประกอบธุรกิจเข้ามาร่วมด้วย ซึ่งนับได้ว่าผลลัพธ์หรือวิธีในการได้ข้อมูลเช่นนี้ มักไม่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วกัน
ประเภทของ “Phishing” และวิธีการตรวจสอบ
Phishing เป็นการโจมตีทางอิเล็กทรอนิกส์ที่มีหลากหลายรูปแบบและวิธีการก็มักขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์และเป้าหมายของผู้โจมตี ต่อไปนี้เป็นประเภทของ Phishing ที่พบบ่อยในวงการ Digital Marketing
- Phishing Email : รูปแบบที่พบบ่อยคืออีเมลที่มีการปลอมแปลงเสมือนเป็นอีเมลจากองค์กรที่น่าเชื่อถือ เช่น ธนาคาร บริษัทเทคโนโลยี หรือบริษัทค้าปลีกที่มีชื่อเสียง อีเมลนี้จะขอให้ผู้ใช้เปิดเผยข้อมูลส่วนตัว เช่น ชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน หรือหมายเลขบัตรเครดิต การตรวจสอบความถูกต้องของอีเมลเป็นวิธีที่ดีในการตรวจสอบว่าคุณจะถูกโจรกรรมข้อมูลหรือไม่
- Spear Phishing : การโจมตีที่เน้นเป้าหมายเฉพาะ โดยผู้โจมตีมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมาย การส่งอีเมลปลอมที่มีข้อมูลที่สร้างความน่าเชื่อถือเพื่อล่อให้เป้าหมายเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญกว่าเดิม การระมัดระวังในการแชร์ข้อมูลบนโซเชียลมีเดียสามารถช่วยลดความเสี่ยงจาก “Spear Phishing” ได้ดีทีเดียว
- Whaling : เน้นโจมตีเป้าหมายที่มีตำแหน่งสูงในองค์กร เช่น ผู้บริหาร หรือคนที่มีอำนาจในการตัดสินใจ ผู้โจมตีใช้เทคนิคที่ยากต่อการตรวจสอบ เช่น การปลอมเอกสารที่ดูเหมือนจริง เพื่อล่อล่วงให้อีกฝ่ายสูญเสียทรัพย์สิน
- Vishing : การโจมตีที่ใช้โทรศัพท์เป็นสื่อในการล่อให้ผู้ใช้เปิดเผยข้อมูลส่วนตัว โดยผู้โจมตีมักใช้เสียงที่คล้ายคลึงกับเสียงขององค์กรที่ปลอมแปลงมาให้น่าเชื่อถือ เพื่อล่อล่วงข้อมูลของฝ่ายตรงข้ามให้ได้มากที่สุด ดังนั้นคุณควรตรวจสอบตัวตนของผู้ติดต่อก่อนที่จะให้ข้อมูลสำคัญผ่านทางโทรศัพท์
- Clone Phishing : การโจมตีที่ใช้เนื้อหาที่มีอยู่แล้วหรือร่องรอยการทำกิจกรรมที่มีก่อนหน้า เช่น อีเมลหรือเว็บไซต์ที่เคยส่งมาก่อน แต่มีการแก้ไขและเพิ่มข้อมูลเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ การตรวจสอบรายละเอียดของเนื้อหาเก่า ๆ และการเปรียบเทียบกับข้อมูลปัจจุบันเป็นวิธีในการตรวจสอบ “Clone Phishing” ได้ในทางหนึ่ง
- Link Manipulation : การโจมตีที่เกี่ยวข้องกับลิงก์ที่ผู้ใช้คาดหวังในการใช้งาน ซึ่งผู้โจมตีอาจทำลิงก์ที่คล้ายกับลิงก์ขององค์กรหรือเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือ ด้วยเหตุนี้การตรวจสอบ URL และการอ่าน URL อย่างรอบคอบเป็นวิธีในการตรวจสอบ “Link Manipulation” ซึ่งจะช่วยให้คุณไม่คลิกไปยังลิงก์ที่น่าสงสัย
การตรวจสอบ “Phishing” จำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังและความรอบคอบในการตรวจสอบข้อมูลและระบบความปลอดภัยเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการโจมตีนี้ในวงการ Digital Marketing
เคล็ดลับทำอย่างไรไม่ให้ตัวเองตกเป็นเหยื่อในการถูก “Phishing”
การป้องกันตัวเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อในการถูก “Phishing” เป็นสิ่งสำคัญในชีวิตประจำวันในโลกดิจิทัล นี่คือเคล็ดลับที่ช่วยป้องกันไม่ให้ตัวเองเป็นเหยื่อในการถูกโจมตี
- ระมัดระวังกับอีเมลและข้อความที่น่าสงสัย : อย่าเปิดอีเมลหรือคลิกลิงก์ที่ไม่คาดคิดจากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือ ควรตรวจสอบอีเมลหรือข้อความที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับองค์กรอย่างรอบคอบก่อนที่จะเปิดหรือตอบกลับ
- อย่าเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว : ไม่ควรเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวเช่น ชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน หรือหมายเลขบัตรเครดิตผ่านทางอีเมล, โซเชียลมีเดีย หรือเว็บไซต์ที่ไม่น่าเชื่อถือ
- ใช้การยืนยันตัวตนสองขั้นตอน (Two-factor authentication) : การเปิดใช้งานการยืนยันตัวตนสองขั้นตอนช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับบัญชีออนไลน์ของคุณ
- ตรวจสอบ URL อย่างรอบคอบ : เมื่อจะคลิกกดลิงก์เข้าไปดูหรือใช้งาน ควรตรวจสอบ URL ให้ระมัดระวังให้ดี และตรวจสอบให้แน่ใจว่าเป็น URL ของเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือ
- อัปเดตและใช้โปรแกรมความปลอดภัย : อัปเดตโปรแกรมความปลอดภัยให้เสมอ และใช้โปรแกรมความปลอดภัยเพื่อป้องกันการโจมตีแบบ “Phishing” และมัลแวร์
- หมั่นเรียนรู้เกี่ยวกับเทคนิคการโจรกรรมข้อมูล : พยายามศึกษาวิธีหรือความรู้เกี่ยวกับการล่อลวงข้อมูลให้ได้มากที่สุด เพราะวิธีเหล่านี้จะช่วยให้คุณรู้จักลักษณะและวิธีการป้องกันได้
- ระมัดระวังกับโซเชียลมีเดีย : อย่าเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวหรือความเป็นส่วนตัวในโซเชียลมีเดียจนมากเกินไป และอย่าคลิกลิงก์จากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือ
- ระมัดระวังกับการคลิกแคมเปญโฆษณา : อย่าคลิกลิงก์ที่อาจปรากฎในโฆษณาที่ไม่น่าเชื่อถือ
- ใช้เครื่องมือตรวจสอบการ Phishing : สามารถใช้เครื่องมือต้านการโจรกรรมข้อมูลที่มีให้ในเบราว์เซอร์หรือโปรแกรมความปลอดภัย แต่วิธีนี้การนี้ก็ควรเช็คให้แน่ใจเช่นกันว่าเครื่องมือที่ใช้งานนั้นเป็นของจริง หรือจากแหล่งที่น่าเชื่อถือหรือไม่
การปฏิบัติตามเคล็ดลับเหล่านี้จะช่วยป้องกันไม่ให้ตัวเองตกเป็นเหยื่อในการถูกโจรกรรมข้อมูล และทำให้ชีวิตในโลกดิจิทัลของคุณปลอดภัยและมั่นใจมากขึ้น
เหตุการณ์การ Phishing ในอนาคตของโลก Digital Marketing
ในอนาคตของวงการ Digital Marketing ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว มีโอกาสที่เหตุการณ์ “Phishing” จะมีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเทคโนโลยีและการสื่อสารทางออนไลน์ยังคงเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินกิจการและการติดต่อกับลูกค้า นี่คือเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตของ Digital Marketing
- การโจมตีผ่านแพลตฟอร์มสื่อสังคมมีมากขึ้น : เป็นไปได้ว่า “Phishing” จะเกิดขึ้นผ่านแพลตฟอร์มสื่อสังคมที่มีผู้ใช้งานจำนวนมาก เช่น การโพสต์ลักษณะคล้ายคลึงกับองค์กรเพื่อหลอกล่อให้ผู้ใช้คลิกลิงก์ที่ไม่น่าเชื่อถือ
- การโจมตีผ่านอีเมลควบคู่กับแคมเปญการตลาด : อีเมลเป็นช่องทางการสื่อสารที่นิยมใช้ในการตลาดอีกรูปแบบหนึ่ง ที่เรียกว่า SMS Marketing การโจมตีผ่านอีเมลอาจเกิดขึ้นในรูปแบบของอีเมลข้อความ หรืออีเมลแคมเปญที่ลักษณะคล้ายคลึงกับองค์กรเพื่อขอข้อมูลส่วนตัว
- การโจมตีผ่านเว็บไซต์ : เว็บไซต์ที่คล้ายคลึงกับเว็บไซต์ขององค์กรนั้นยังคงเป็นสาเหตุของการโจมตี “Phishing” เพื่อขอข้อมูลส่วนตัวจากผู้ใช้งาน ซึ่งเป็นเรื่องที่เจอกันได้บ่อยที่สุด โดยเฉพาะกับการตกแต่งให้เหมือนหน้าเว็บของ Official จริง ๆ รวมถึงในบางครั้งก็อาจมีการยิงแอดเกี่ยวกับการแจกรางวัลเพิ่มเติมเพื่อล่อใจผู้อ่านด้วย จึงทำให้สังเกตได้ค่อนข้างยาก
- การโจมตีผ่านแอปพลิเคชันมือถือ : ในอนาคตแอปพลิเคชันที่เกี่ยวข้องกับการตลาดอาจมีการโจมตีผ่านแอปพลิเคชันที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับแอปพลิเคชันขององค์กร ซึ่งเทคนิคนี้อาจถึงขั้นทำให้เกิดการเข้าควบคุมหรือ Remote โทรศัพท์ของคุณได้เลย
- การโจมตีในภูมิภาคที่เพิ่มขึ้น : ในอนาคตอาจมีแนวโน้มที่การ Phishing เน้นในภูมิภาคต่าง ๆ มากขึ้น เนื่องจากการใช้เทคโนโลยีของประชาชนในภูมิภาคเพิ่มขึ้น ซึ่งการโจมตีนี้จะหวังผลเฉพาะพื้นที่ที่อาจคาดหวังว่าเป็นประชาชนทั่วไปที่มีความระมัดระวังการใช้เทคโนโลยีไม่มากนัก
- การโจมตีในกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ : การ Phishing อาจมีการเน้นโจมตีในกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ มากขึ้น ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่คาดการณ์ว่าจะมีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็น กลุ่มความชอบ รสนิยม หรือแม้กระทั่งความชอบที่เฉพาะเจาะจง ก็มีการปรับเปลี่ยนเพื่อหลอกล่อได้มากขึ้น
โดยเราอาจสามารถคาดการณ์ในอนาคตได้ว่าการเปลี่ยนแปลงของลักษณะการ Phishing ก็ยังคงมีอยู่เรื่อย ๆ และพร้อมที่จะพัฒนามาเพื่อต่อสู้กับระบบป้องกันอยู่เสมอ โดยสำหรับการเติบโตของวงการ Digital Marketing และเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดดอาจเป็นส่วนที่ส่งผลให้เหตุการณ์ “Phishing” มีความซับซ้อนและความหลากหลายมากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นการตั้งคำถามก่อนที่จะกระทำการอะไรบางอย่างในสื่ออินเทอร์เน็ตหรือโลกออนไลน์ จึงจำเป็นต้องตั้งสติพร้อมมั่นใจจริง ๆ ว่าระหว่างทางที่เรากำลังใช้งานนั้นมีความปลอดภัยมากแค่ไหน
บทสรุป “Phishing” การหลอกล่อขอข้อมูลในวงการ Digital Marketing
การล่อลวงข้อมูลจากลูกค้าในวงการ Digital Marketing หรือที่เรียกว่า “Phishing” เป็นวิธีการหนึ่งที่พบเห็นได้บ่อย ยิ่งเทคโนโลยีเกี่ยวกับการตลาดพัฒนามากขึ้นไปเท่าไร วิธีการหลอกล่อขอข้อมูลจากลูกค้าก็ยิ่งมีเพิ่มมากขึ้น ด้านองค์กรหรือธุรกิจ ก็ไม่ควรนำวิธีการนี้ไปใช้ในการขอข้อมูลลูกค้าโดยเด็ดขาด เพราะนอกจากจะเป็นวิธีการที่ดูไม่ดีแล้ว ยังส่งผลเสียต่อองค์กรธุรกิจของคุณในระยะยาวด้วยเช่นกัน และในส่วนของผู้บริโภคหรือลูกค้า เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาแบบนี้ขึ้น จึงควรต้องเรียนรู้และเท่าทันเหตุการณ์วิธีการต่าง ๆ ที่ใช้หลอกขอข้อมูลให้ได้มากที่สุดด้วยเช่นกัน