ในยุคที่โลกดิจิทัลได้กลายเป็นสนามรบทางธุรกิจ เชื่อได้เลยว่าผู้ทำเพจหรือเว็บไซต์ทุกคนล้วนถามตัวเองลึก ๆ ว่า “เราอยู่ที่ไหนในสายตาของลูกค้า” หรือหากลองขยับมุมมองขึ้นมาอีกหน่อยคุณอาจถามว่า “เราอยู่ในจุดไหนใน Google?” นี่คือบทบาทของ SEO Specialist ที่ไม่เพียงแค่ทำให้เว็บไซต์ของคุณถูก “เห็น” ได้ง่ายขึ้นจาก Search engine แต่ยังช่วยให้ “ได้ยิน” ถึงความต้องการของผู้ใช้งาน ผ่านการวิเคราะห์ Keyword การปรับเนื้อหา และการเพิ่มประสิทธิภาพเว็บไซต์
ซึ่งบทความนี้ เราจะพาคุณไขข้อสงสัยว่า SEO Specialist คือใคร และพวกเขาดูแลเรื่องอะไรบ้างให้กับเว็บไซต์ของคุณ พร้อมทั้งการให้คำตอบด้วยว่าทำไมธุรกิจของคุณถึงไม่ควรมองข้ามบทบาทของอาชีพนี้ ตามมาดูกันว่าเบื้องหลังนั้น มีการทำงานอย่างมืออาชีพและลึกซึ้งแค่ไหน เพราะนี่อาจเป็นกุญแจสำคัญในการพลิกเกมการตลาดของคุณบนโลกออนไลน์ได้เลยทีเดียว
SEO Specialist คือใคร
SEO Specialist หรือผู้เชี่ยวชาญด้านการปรับแต่งการค้นหาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพเว็บไซต์ (Search Engine Optimization Specialist) คือผู้ที่มีความรู้ทักษะและประสบการณ์ในการวิเคราะห์ ปรับปรุง และวางแผนกลยุทธ์เพื่อทำให้เว็บไซต์ได้รับอันดับที่ดีจาก Search engine เช่น Google หรือ Bing โดยผู้เชี่ยวชาญด้าน SEO จะต้องเข้าใจถึงหลักการทำงานของ algorithm search engine วิเคราะห์Keyword สร้างเนื้อหาคุณภาพ และใช้เทคนิคต่าง ๆ เช่น การสร้างInternal link หรือ External link การใช้ backlink เพื่อเพิ่มโอกาสที่เว็บไซต์จะถูกจัดอันดับให้อยู่ในผลการค้นหาสูง ๆ
อีกทั้งยังสามารถวิเคราะห์ข้อมูลการเข้าชมเว็บไซต์ และปรับปรุงเว็บไซต์อย่างต่อเนื่องเพื่อให้ผู้ใช้มีประสบการณ์ที่ดีที่สุด และส่งผลให้เว็บไซต์นั้น ๆ มีโอกาสในการเปลี่ยนผู้เข้าชมเป็นลูกค้าได้มากขึ้น
ความสำคัญของการมี SEO Specialist
การมี SEO Specialist นั้นสำคัญอย่างยิ่งสำหรับธุรกิจที่ต้องการประสบความสำเร็จในโลกออนไลน์ เนื่องจากหากเราลองดูตามรายงานของ We Are Social และ Hootsuite ฉบับปี 2023 จะพบว่า มีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วโลก 4.95 พันล้านคน โดย 92% ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วโลกใช้ Google Search อย่างน้อยหนึ่งครั้งต่อวัน
หมายความว่าโดยเฉลี่ยแล้วจะมีผู้ใช้งาน Google Search ทั่วโลกประมาณ 4.53 พันล้านคนต่อวัน ซึ่งสำหรับประเทศไทย จากการสำรวจของ ETDA พบว่า มีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย 79.3 ล้านคน โดย 98.92% ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยใช้ Google Search อย่างน้อยหนึ่งครั้งต่อวัน หมายความว่า มีผู้ใช้งาน Google Search ในประเทศไทยประมาณ 78.3 ล้านคนต่อวัน
นอกจากนี้ จากสถิติยังพบด้วยว่า คนไทยใช้เวลาในการเล่นอินเทอร์เน็ตโดยเฉลี่ยสูงถึง 9 ชั่วโมง โดยใช้เวลาในการค้นหาข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต 67.6% ใช้เวลาในการติดตามข่าวสารและเหตุการณ์ต่าง ๆ 64.1% และใช้เวลาในการดูคลิปวิดีโอ สตรีมมิ่งทีวี และหนัง 60.8% ด้วยข้อมูลทั้งหมดก็พอจะบอกได้ว่าด้วยจำนวนของคนที่ใช้ Google อย่างมหาศาลทำให้ การที่เว็บไซต์ของคุณปรากฏอยู่บนหน้าแรกของ Google หรือ Search engine ชั้นนำอื่น ๆ นับเป็นโอกาสทองในการดึงดูดผู้ใช้งานให้เข้ามาทำความรู้จักกับธุรกิจของคุณ
กล่าวได้ว่า SEO Specialist คือผู้ที่จะมาจัดการกับระบบต่าง ๆ เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ของคุณถูกดันขึ้นไปอยู่ในหน้าแรกที่จะมีคนเห็นได้เยอะกว่านั้นเอง โดยพวกเขาเหล่านี้คือผู้มีความรู้และความเชี่ยวชาญในการวิเคราะห์ การวางแผน และการปรับปรุงเว็บไซต์ให้เหมาะสมกับอัลกอริธึมของ Search engine คอยปรับแต่ง Keyword ให้สอดคล้องในการสร้างเนื้อหาคุณภาพ เพิ่มโครงสร้างลิงก์ในเว็บไซต์ของคุณให้มีความเกี่ยวข้องและน่าเชื่อถือ
ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยให้เว็บไซต์ของคุณไม่เพียงแต่มีอันดับที่ดีในการค้นหาเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ผู้ใช้งานได้รับประสบการณ์ที่ดีขณะเยี่ยมชมเว็บไซต์ของคุณ นำไปสู่โอกาสในการแปลงผู้เยี่ยมชมเหล่านั้นให้กลายเป็นลูกค้าได้อีกด้วย ซึ่งเป็นปลายทางของความสำเร็จในการทำธุรกิจออนไลน์นั่นเอง
บทบาทและหน้าที่หลักของ SEO Specialist
แม้บทบาทและหน้าที่ของ SEO Specialist จะเป็นไปเพื่อเป้าหมายเดียวซึ่งก็คือการอยู่ในอันดับที่ดีของการค้นหา แต่ความเป็นจริงแล้ว กลับมีรายละเอียดมากมายที่หลายคนอาจไม่รู้ ซึ่งจะครอบคลุมในหลายด้าน แต่โดยรวมแล้วจะแบ่งออกเป็นส่วน ๆ ดังนี้
1. การวิเคราะห์ Keyword หลัก (Keyword Analysis)
การวิเคราะห์ Keyword หรือการทำงานในส่วนของ Keyword Analysis เป็นหนึ่งในหน้าที่สำคัญที่สุดของ SEO Specialist โดยหน้าที่นี้จะเกี่ยวข้องกับการค้นหาและเลือกคำที่ผู้คนมักใช้ในการค้นหาข้อมูลผ่าน Search engine ซึ่งคำเหล่านี้จะต้องเกี่ยวข้องกับเนื้อหาและบริการที่เว็บไซต์ของคุณนำเสนอ ซึ่งต้องพิจารณาถึงความนิยมและระดับการแข่งขันของคำเหล่านั้น Keyword ที่มีประสิทธิภาพสูงควรจะเป็นคำที่มีคนค้นหามาก แต่มีเว็บไซต์อื่นใช้แข่งขันน้อย ทำให้เว็บไซต์ของคุณมีโอกาสถูกค้นพบได้ง่ายขึ้น
การวิเคราะห์ Keyword ไม่เพียงแต่ช่วยให้เว็บไซต์ของคุณเหมาะสมกับการค้นหาที่เกิดขึ้นจริงเท่านั้น แต่ยังช่วยในการกำหนดเนื้อหาที่ควรจะถูกสร้างขึ้นบนเว็บไซต์ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งาน รวมถึงการกำหนดโครงสร้างของเว็บไซต์และการออกแบบ URL ให้มีคำหลักเหล่านั้นอยู่ด้วย ซึ่งจะช่วยให้ Search engine เข้าใจและจัดอันดับเว็บไซต์ได้ดีขึ้น
2. การปรับปรุงเนื้อหาเว็บไซต์ (Content Optimization)
การปรับปรุงเนื้อหาเว็บไซต์หรือ Content Optimization คือกระบวนการทำให้เนื้อหาบนเว็บไซต์มีคุณภาพและเกี่ยวข้องกับ Keyword ที่ได้รับการวิเคราะห์มาแล้ว ซึ่งจะต้องตอบโจทย์ทั้งผู้ใช้งานและ Search engine รวมถึงการเขียนและการปรับแต่งเนื้อหาให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ SEO โดยให้ความสำคัญกับประเด็นต่าง ๆ ดังนี้:
- คุณภาพเนื้อหา: สร้างเนื้อหาที่มีคุณภาพ เช่น บทความ วิดีโอ หรืออินโฟกราฟิกที่มีข้อมูลเป็นประโยชน์และเป็นที่สนใจของผู้เข้าชมให้ตรงใจมากที่สุด
- การปรับโครงสร้างเนื้อหา: โดยใช้แท็กหัวข้อ (เช่น H1, H2, H3) และปรับโครงสร้างข้อความให้มีลำดับที่ชัดเจน เพื่อให้ทั้งผู้ใช้งานและเสิร์ชเอนจินสามารถเข้าใจเนื้อหาได้ง่าย
- การปรับปรุงความสามารถในการเข้าถึง: ทำให้แน่ใจว่าเนื้อหานั้นสามารถเข้าถึงได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นการปรับ pagespeed หรือการเข้าถึงบนอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้อย่างสะดวก
- การสร้าง Internal link: คือใช้ลิงก์สำหรับเชื่อมโยงเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกันภายในเว็บไซต์ เพื่อเพิ่มความเชื่อมโยงและให้ทำให้ Search engine ค้นหาข้อมูลได้ง่ายขึ้น
- การใช้ภาพและวิดีโอ: ปรับปรุงภาพและวิดีโอให้มีคุณภาพ และมีการใส่คำอธิบาย alt text ที่เกี่ยวข้องกับ Keyword เพื่อทำให้เนื้อหาน่าสนใจมากขึ้นและเพิ่มโอกาสในการถูกจัดอันดับ
โดยสิ่งเหล่านี้ยังมีรายละเอียดอีกค่อนข้างเยอะเลยทีเดียวในการที่จะปรับปรุง content ของคุณให้ล้ำไปมากกว่าเดิม ซึ่งอาจเรียกว่าเป็นด่านที่ค่อนข้างท้าทายเพราะนี่คือสิ่งประตูด่านต้น ๆ ที่ผู้ใช้งานจะตัดสินได้เลยว่าควรอยู่บนหน้าเว็บไซต์ของคุณต่อไปหรือไม่
3. การสร้างและการจัดการลิงก์ย้อนกลับ (Backlink Building)
การสร้างลิงก์ย้อนกลับ หรือ Backlink Building เป็นกระบวนการที่ SEO Specialist ต้องทำอย่างระมัดระวังและเป็นระบบเพราะ Backlink คือหนึ่งในปัจจัยหลักที่ Search engine ใช้ในการประเมินความน่าเชื่อถือและความเกี่ยวข้องของเว็บไซต์ ซึ่งลิงก์เหล่านี้เองจะคล้ายกับการอ้างอิงที่บอกถึงความน่าเชื่อถือและประเมินว่ามีคุณภาพและน่าไว้วางใจแค่ไหน ดังนั้น หน้าที่ของการสร้าง Backlink จึงมีทั้ง
- การวิเคราะห์ลิงก์: ตรวจสอบลิงก์ที่มีอยู่และหาช่องทางใหม่ ๆ ที่สามารถสร้าง Backlink กลับมายังเว็บไซต์ของคุณ
- การเลือกแหล่งลิงก์: ค้นหาเว็บไซต์ที่มีความเกี่ยวข้องกับเว็บไซต์ของคุณและมีความน่าเชื่อถือสูงเพื่อสร้าง Backlink
- การสร้างความสัมพันธ์: สร้างความสัมพันธ์กับเว็บมาสเตอร์และผู้สร้างเนื้อหาเพื่อรับ Backlink ซึ่งคุณอาจใช้เทคนิคการทำ Guest Blogging ในวิธีการนี้
- การสร้าง Content เพื่อแลกลิงก์: ขั้นตอนนี้คุณสามารถผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพเพื่อให้เว็บไซต์อื่น ๆ สามารถเชื่อมโยงลิงก์มายังเว็บไซต์ของคุณได้ หรืออาจจะมีการแลกเปลี่ยนลิงก์ซึ่งกันและกัน
- การติดตามและวิเคราะห์ลิงก์: ติดตามผลการสร้างลิงก์และวิเคราะห์คุณภาพของลิงก์ด้วยเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าลิงก์มีประโยชน์ต่อ SEO อย่างถูกต้อง
เรียกได้ว่าการทำ Backlink Building ที่มีคุณภาพต้องอาศัยความรอบคอบและเทคนิคที่ถูกต้อง เพราะลิงก์จากเว็บไซต์ที่ไม่เกี่ยวข้องหรือมีคุณภาพต่ำอาจส่งผลเสียต่อ SEO ของคุณได้ ดังนั้นการใช้ผู้เชี่ยวชาญจะช่วยให้เว็บของคุณไม่ถูก Google ตีตกไปก่อนนั้นเอง
4. การวิเคราะห์และการปรับใช้โครงสร้างเว็บไซต์ (Website Structure Analysis)
การวิเคราะห์และการปรับใช้โครงสร้างเว็บไซต์ หรือ Website Structure Analysis เป็นหน้าที่ที่ SEO Specialist ต้องทำการวิเคราะห์ลักษณะและโครงสร้างภายในเว็บไซต์เพื่อให้แน่ใจว่าทั้ง Search engine และผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวกและเป็นระเบียบเรียบร้อย โดยภาพรวมของหน้าที่นี้จะประกอบด้วย
- การตรวจสอบโครงสร้าง URL: ทำให้ URL ของแต่ละหน้าเว็บชัดเจนและมีความหมาย เพื่อให้เสิร์ชเอนจินและผู้ใช้งานเข้าใจและจดจำได้ง่าย
- การสร้างแผนผังเว็บไซต์ (Sitemap): พัฒนาแผนผังเว็บไซต์ที่ช่วยให้เสิร์ชเอนจินสแกนและดัชนีเนื้อหาได้อย่างครอบคลุม
- การทำให้เว็บไซต์เป็นมิตรกับมือถือ(friendly mobile): ปรับโครงสร้างเว็บไซต์ให้รองรับกับอุปกรณ์มือถือ เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงได้ง่ายที่สุด โดยไม่สะดุดหรือเกิดปัญหาการดาวน์โหลด
- การจัดการข้อมูลโครงสร้างภายใน: จัดการลิงก์ภายในและข้อมูลโครงสร้างอื่น ๆ เช่น การจัดหมวดหมู่เนื้อหาในเว็บไซต์ให้มีความชัดเจน โดยแบ่งเนื้อหาออกเป็นหมวดหมู่และย่อยหมวดหมู่ เพื่อให้ทั้งผู้ใช้และเสิร์ชเอนจินสามารถค้นหาและเข้าใจโครงสร้างของเว็บไซต์ได้ง่ายขึ้น หรือการตรวจสอบและลบลิงก์ที่หักหรือไม่ใช้งานอีกต่อไป เพื่อไม่ให้ผู้ใช้งานพบกับประสบการณ์ที่ไม่ดีและเพื่อไม่ให้เสียคะแนนกับ Search engine
5. การปรับใช้กลยุทธ์เนื้อหา (Content Strategy)
การปรับใช้กลยุทธ์เนื้อหาหรือ Content Strategy เป็นกระบวนการที่ SEO Specialist จะต้องวางแผนและปรับปรุงเนื้อหาบนเว็บไซต์ให้สอดคล้องกับเป้าหมายและกลยุทธ์ของแบรนด์ โดยมุ่งเน้นไปที่การสร้างและเผยแพร่ Content ที่มีคุณภาพและเกี่ยวข้องกับผู้บริโภค ซึ่งในกระบวนการนี้อาจมีตำแหน่งเฉพาะที่รับผิดชอบนั่นก็คือ Content Creator นั่นเอง โดยมีวิธีการทำงานภาพรวมดังนี้
- การวิเคราะห์เป้าหมายและผู้ชม: นักสร้าง Content ต้องรู้จักและเข้าใจผู้ชมเป้าหมายของเว็บไซต์ เพื่อสร้างเนื้อหาที่ตอบโจทย์ความต้องการและความสนใจของพวกเขา เพื่อมอบประโยชน์และทำให้แน่ใจว่าผู้ชมจะเลือกดู Content ของคุณ
- การวางแผนเนื้อหา: สร้างแผนปฏิบัติการที่ชัดเจนสำหรับการผลิตและการเผยแพร่เนื้อหา โดยกำหนดหัวข้อ รูปแบบ และกำหนดเวลาที่เหมาะสม
- การผลิตเนื้อหา: สร้างเนื้อหาที่มีคุณภาพและสอดคล้องกับ Keyword ที่วิเคราะห์ไว้ รวมถึงการใช้งานภาพ วิดีโอ และมัลติมีเดียเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการนำเสนอให้น่าสนใจ และเข้ากับแพลตฟอร์มต่าง ๆ
- การเผยแพร่เนื้อหา: กำหนดเวลาและช่องทางในการเผยแพร่เนื้อหา เพื่อให้เข้าถึงผู้ชมได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการใช้ทักษะ Ads optimization ในกรณีที่เลือกทำแคมเปญโฆษณา
- การวิเคราะห์และปรับปรุงเนื้อหา: ตรวจสอบและวิเคราะห์ประสิทธิภาพของเนื้อหาที่เผยแพร่ไปแล้ว เพื่อสรุปการทำรายงานและทำการปรับปรุงพัฒนาเนื้อหารวมถึงกระบวนการต่าง ๆ ให้ดียิ่งขึ้น
6. การปฏิบัติตามแนวทางที่ Search engine กำหนด (SEO Best Practices)
การปฏิบัติตามแนวทางที่ Search engine กำหนดหรือ SEO Best Practices เป็นหนึ่งในหน้าที่สำคัญของ SEO Specialist ซึ่งหมายถึงการทำความเข้าใจและปฏิบัติตามกฎเพื่อให้เว็บไซต์ได้รับการจัดอันดับที่ดี และหลีกเลี่ยงการถูกลงโทษจากการใช้เทคนิคที่ไม่เหมาะสม โดยจำเป็นต้องดูแลในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้
- การปฏิบัติตามแนวทางเนื้อหา: พยายามสร้างเนื้อหาที่มีคุณภาพ มีข้อมูลที่เชื่อถือได้ และเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้งาน โดยหลีกเลี่ยงการใช้เนื้อหาที่หลอกลวงหรือไม่สมบูรณ์ โดยเฉพาะกับการตรวจทานเนื้อหาให้ดี ก็จะเป็นสิ่งที่ป้องกันข้อมูลผิดพลาดได้
- การใช้ Keyword อย่างเหมาะสม: การใช้คำหลักในเนื้อหาอย่างเป็นธรรมชาติ หลีกเลี่ยงการใช้คำหลักอย่างมากเกินไปหรือ keyword stuffing ที่จะถูกเสี่ยงมองว่าไม่ดีจากบอทที่มาเก็บข้อมูล
- การปรับปรุงประสบการณ์ผู้ใช้งาน: ตรวจสอบให้แน่ใจว่าเว็บไซต์ใช้งานได้อย่างราบรื่นและช่วยให้ผู้ใช้งานมีความประทับใจในการสำรวจเว็บไซต์ของเรา ทั้งยังต้องตรวจสอบด้วยว่ามีการโหลดที่รวดเร็วหรือไม่ มีการนำทางที่ง่ายแค่ไหนเพื่อให้ผู้ใช้อยู่ในเว็บเรานานที่สุด
- การใช้แท็กและข้อมูลโครงสร้างข้อมูลอย่างเหมาะสม: ใช้แท็กเช่น title tags, meta descriptions อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ Search engine และผู้ใช้งานเข้าใจเนื้อหาของหน้าเว็บไซต์ได้ดีขึ้น
- การอัปเดตและรักษาเนื้อหาให้ทันสมัย: ปรับปรุงเนื้อหาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สอดคล้องกับข้อมูลล่าสุดและแนวโน้มปัจจุบันมากขึ้น
7. การวัดผลและการปรับปรุงแบบต่อเนื่อง (Performance Monitoring)
การวัดผลและการปรับปรุงแบบต่อเนื่อง หรือ Performance Monitoring เป็นกระบวนการที่ค่อนข้างท้าทายเพื่อตรวจสอบและวิเคราะห์ผลลัพธ์จากกลยุทธ์ SEO โดยตรง ซึ่งรวมถึงการทำการทดลองและปรับปรุงกลยุทธ์เหล่านั้นอย่างต่อเนื่องเพื่อผลลัพธ์ที่ดีขึ้น โดยจะมีการทำงานที่ควบกับภาพรวม ดังนี้
- การใช้เครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูล: ใช้เครื่องมือเช่น Google Analytics หรือเครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลอื่น ๆ เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการเข้าชมเว็บไซต์ อัตราการเข้าชมจากคำหลัก และพฤติกรรมของผู้ใช้บนเว็บไซต์ที่จะสามารถนำไปปรับปรุงเรื่องต่าง ๆ ได้ต่อไป
- การตรวจสอบ KPIs และบันทึกรายงาน: กำหนดและติดตามตัวชี้วัดสำคัญ (KPIs) เช่น อันดับคำหลัก อัตราการคลิกผ่าน (CTR) และอัตราการแปลง (conversion rates) รวมถึงค่าต่าง ๆ เพื่อเก็บรายงานสถิติ พร้อมจัดทำรายงานประจำสัปดาห์หรือเดือนเพื่อสรุปผลลัพธ์
- การทดลอง A/B Testing: ทำการทดลอง A/B Testing บนหน้าเว็บไซต์ต่าง ๆ เพื่อดูว่าการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้ใช้อย่างไร และใช้ข้อมูลนั้นในการปรับปรุงเว็บไซต์
- ต่อยอดและปรับปรุงผลลัพธ์: อ้างอิงข้อมูลและผลลัพธ์ที่ได้จากการวิเคราะห์เพื่อทำการปรับปรุงกลยุทธ์ SEO อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไปจนถึงการทำ SEO Audit (สามารถอ่าน “ตรวจสุขภาพเว็บไซต์ประจำปี SEO Audit” ได้ที่นี่ คลิก ) เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ทันสมัยทั้งเนื้อหาและระบบ
ทักษะและความรู้ที่จำเป็นสำหรับ SEO Specialist
การเป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน SEO ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย อย่างที่เล่าไปแล้วว่าหน้าที่ของอาชีพนี้ย่อมมีความจุกจิกวุ่นวายอยู่กับรายละเอียดและข้อมูลค่อนข้างมาก แต่หากคุณต้องการเติบโตในสายอาชีพนี้ การมีทักษะต่อไปนี้จะช่วยให้คุณสามารถพัฒนาตัวเองขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง
1.ความเข้าใจในการทำงานของเครื่องมือค้นหา
เข้าใจหลักการของ Google Algorithm ว่ามันทำงานยังไง เพื่อที่จะสามารถปรับให้เว็บไซต์เข้ากับมาตรฐานที่เครื่องมือค้นหาต้องการ และเป็นที่แน่นอนว่าเครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์ย่อมมีเป็นจำนวนมาก ดังนั้นคุณต้องหมั่นใช้ให้บ่อยและมีทักษะการเลือกว่าเครื่องมือตัวไหนที่ตอบโจทย์ได้ดีที่สุด
2. ทักษะการวิเคราะห์ข้อมูล
การเป็น SEO Specialist ต้องวิเคราะห์ข้อมูลได้ เช่น การใช้ Google Analytics เพื่อดูว่าผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์มาจากไหน พวกเขาสนใจอะไร และพฤติกรรมของพวกเขาเป็นอย่างไร ซึ่งคุณจะต้องคลุกคลีอยู่กับตัวเลขและค่าต่าง ๆ จำนวนมาก ด้วยเหตุนี้การมีสายตาที่มองเห็นการเปลี่ยนแปลงหรือสัญญาณบางอย่างก็จำเป็นในทักษะทางอาชีพนี้ด้วยเช่นกัน
3. การเขียนเนื้อหาที่มีคุณภาพ
แม้การเขียนเนื้อหาต่าง ๆ จะดูเป็นหน้าที่ของ content creator แต่สำหรับนัก SEO การเขียนเนื้อหาก็เป็นทักษะที่ต้องมีเช่นกัน ไม่ใช่แค่การใส่คำหลัก แต่ต้องเขียนให้มีประโยชน์กับผู้อ่าน และมีคุณภาพที่ดี เพื่อให้เครื่องมือค้นหาจัดอันดับเว็บไซต์ของคุณได้ดี นี่จึงเป็นทักษะที่คุณต้องรู้ติดตัว
4. ความเข้าใจใน SEO On-Page และ Off-Page เสมอ
ต้องรู้ว่าองค์ประกอบไหนบนเว็บไซต์ที่ส่งผลต่อ SEO (On-Page) และการสร้างลิงก์จากเว็บอื่นๆ (Off-Page) สามารถช่วยเพิ่มอันดับได้อย่างไร ซึ่งต้องอัปเดตอย่างสม่ำเสมอเพราะ SEO ไม่ใช่การทำเพียงครั้งเดียวแล้วจบ แต่เป็นกระบวนการที่ต้องปรับปรุงและทดสอบอยู่ตลอดเพื่อให้เว็บไซต์ของคุณสามารถแข่งขันได้ในระยะยาว
5.ทักษะ Coding
การมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับ HTML, CSS, และ JavaScript เพื่อทำความเข้าใจว่าเว็บไซต์ของคุณทำงานอย่างไร และสามารถแก้ไขปัญหาทางเทคนิคที่ส่งผลต่อ SEO ในเชิงลึกได้ นี่คือสิ่งสำคัญที่ไม่ควรพลาดเพราะมันคือแก่นหลักที่จะทำให้คุณสามารถดูแลการปรับปรุงเว็บไซต์ได้ดีขึ้น
6.ทักษะด้านภาษา
นัก SEO จำเป็นต้องมีทักษะทางภาษา หรืออย่างน้อยก็ควรอ่านภาษาอังกฤษได้เพื่อก้าวให้ทันข้อมูลที่ถูกอัปเดตในจุดที่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งทักษะนี้จะช่วยให้เราได้เรียนรู้วิธีการทำ SEO ใหม่และยังใช้ในการต่อยอดไปสู่การเรียนรู้เพิ่มเติมได้อีกมากมายทีเดียว
SEO Specialist ยังสำคัญไหมในปี 2024?
พูดได้เต็มปากเลยว่า SEO Specialist ยังมีความสำคัญในปี 2024 โดยเหตุผลหลักเป็นเพราะโลกออนไลน์ที่เราอยู่ จะมีแข่งขันกันสูงมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้นไปอีกในอนาคต เนื่องจากเว็บไซต์ต่าง ๆ ต้องการที่จะถูกเห็นและได้รับคลิกจากผู้ใช้และการทำ SEO คือกลยุทธ์สำคัญที่จะช่วยให้เว็บไซต์ปรากฏอยู่ต้น ๆ ของหน้าผลการค้นหานั่นเอง
อีกอย่างคือพฤติกรรมของผู้บริโภคออนไลน์นั้นก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ พวกเขาคาดหวังคำตอบที่เร็วและแม่นยำมากขึ้น และ SEO ช่วยให้เว็บไซต์สามารถเข้าถึงความต้องการนี้ได้ โดยการปรับแต่งให้เนื้อหาตรงกับสิ่งที่คนค้นหาจริง ๆ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีเสิร์ชเอนจิน เช่น การใช้ AI ในการเรียนรู้พฤติกรรมการค้นหา ก็ทำให้ SEO Specialist ต้องอัปเดตความรู้อยู่เสมอเพื่อที่จะทำความเข้าใจและปรับใช้กลยุทธ์ที่เหมาะสม เพื่อให้เว็บไซต์มีอันดับที่ดีบนเครื่องมือค้นหา
และสุดท้าย การเติบโตของการค้าออนไลน์ ทำให้การมีเว็บไซต์ที่ SEO ดีเป็นเรื่องจำเป็นมากขึ้น เพื่อให้ธุรกิจต่าง ๆ สามารถแข่งขันได้ในตลาดที่มีการแข่งขันสูง ดังนั้นการมี SEO Specialist ที่มีความรู้และทักษะที่อัปเดตอยู่เสมอ จึงยังคงมีความสำคัญอย่างมากแบบที่ขาดไม่ได้ เพราะทักษะเหล่านี้เองที่จะทำให้เว็บไซต์ของคุณเติบโตได้มากกว่าคนอื่นนั่นเอง
สรุป: ทบทวนบทบาทพร้อมคำแนะนำสำหรับธุรกิจที่ต้องการจ้าง SEO Specialist
การจ้าง SEO Specialist เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจสามารถเข้าถึงเป้าหมายในโลกออนไลน์ไม่ต่างจากบทบาทที่เปรียบเสมือนผู้ช่วยที่คอยผลักดันให้ธุรกิจของคุณได้ออกสู่สายตาของผู้คนมากขึ้น ดังนั้นการตั้งเป้าหมายว่าคุณต้องการอะไรจาก SEO Specialist จึงเป็นสิ่งที่ต้องชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มอันดับในเครื่องมือค้นหา, การเพิ่มการเข้าชมเว็บไซต์, หรือการเพิ่มยอดขาย ซึ่งการเห็นเป้าหมายแบบนี้ จะช่วยให้คุณเลือกผู้เชี่ยวชาญที่ตรงกับความต้องการของธุรกิจคุณได้อย่างแม่นยำ
โดยต่อมาก็คือ การวัดประสบการณ์และผลงานที่ผ่านมาของนัก SEO เหล่านั้นว่าพวกเขามีฝีมือพอที่จะช่วยให้ธุรกิจของคุณไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้หรือไม่ มีความรู้ที่อัปเดตเกี่ยวกับเทรนด์ใหม่ ๆ หรือเปล่า ไปจนถึงการใช้เครื่องมือที่เหมาะสมเพื่อศึกษาอัลกอริทึมก็เป็นสิ่งที่ SEO Specialist ควรมี เพื่อให้สามารถปรับใช้กลยุทธ์ที่เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญเลยก็คือ การมีทักษะการสื่อสารที่ดีของ SEO Specialist นับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ไม่ควรมองข้าม เพราะพวกเขาจำเป็นต้องอธิบายกระบวนการและกลยุทธ์ที่จะใช้ให้กับคุณเข้าใจ เพื่อที่คุณจะได้มีส่วนร่วมและเข้าใจในกระบวนการนั้น ๆ ได้ด้วยเพื่ออัปเดตความคืบหน้าและเรียนรู้ที่จะทำงานอย่างเป็นระบบทั้งธุรกิจ
สุดท้ายคุณควรพิจารณาเรื่องของงบประมาณและวัฒนธรรมขององค์กรในการเลือกจ้าง SEO Specialist เช่นกัน ควรจ้างผู้เชี่ยวชาญที่คุณสามารถจ่ายได้โดยไม่กระทบกับการทำธุรกิจ และเลือกผู้ที่เข้าใจเป้าหมายในธุรกิจของคุณ เพราะการมีผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานได้ดีกับทีมและเข้าใจภารกิจจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อความสำเร็จ