Web Directory กับการทำ SEO

Picture of THAITOPSEO
THAITOPSEO
Web Directory กับการทำ SEO-01

ย้อนกลับไปในวันที่ Search engines ยังไม่ได้รับความนิยมเท่าในปัจจุบัน การค้นหาอะไรสักอย่างบนเว็บไซต์ User ก็จำเป็นต้องมีลิงก์ URL นั้น ๆ โดยตรงหรือในอีกช่องทางก็คือ ใช้การค้นหาผ่าน “Web Directory” เข้ามาช่วย โดยหน้าที่ของสิ่งนี้แทบไม่ต่างจาก ‘สมุดหน้าเหลือง’ ที่มีการรวบรวมข้อมูลและชี้ไปยังแหล่งต่าง ๆ ที่ผู้คนสนใจ โดยในปัจจุบันบริการนี้มีบทบาทน้อยลงเป็นอย่างมาก จึงทำให้ User อาจไม่คุ้นเคยหรือใช้เจ้า “สารบบ” ตัวนี้อีกต่อไปแล้ว

ซึ่งในบทความนี้เราจะมาทำความรู้จักกับสิ่งนี้ เพื่อให้คุณได้รู้ว่าเจ้าสิ่งนี้มีความสำคัญอย่างไร และจะส่งผลทางไหนสำหรับการทำ SEO

Web Directory คืออะไร และทำงานอย่างไร?

Web Directory กับการทำ SEO-02


Web Directory หรือ เว็บไดเร็คทอรี่ เป็นเว็บไซต์ที่รวบรวมลิงก์จากเว็บไซต์ต่าง ๆ แล้วจัดเรียงลำดับตามหมวดหมู่หรือหมวดหมู่ย่อย เพื่อให้ User สามารถค้นหาเว็บไซต์ที่ต้องการได้ง่ายขึ้น โดยมักจะมีการจัดกลุ่มเว็บไซต์ตามหมวดหมู่หลัก ๆ เช่น เทคโนโลยี ธุรกิจ การเงิน สื่อสาร ความบันเทิง ฯลฯ และในแต่ละหมวดหมู่ย่อยก็มักจะมีการจัดเรียงตามลำดับความสำคัญของเว็บไซต์ เพื่อให้ User สามารถเลือกเข้าไปยังเว็บไซต์ที่ต้องการได้อย่างง่ายดาย

โดยการทำงานภาพรวมของเว็บไดเร็คทอรี่ จะปฏิบัติการโดยการเก็บข้อมูลเว็บไซต์จากทั่วโลกและจัดเก็บไว้ในระบบของฐานข้อมูล ซึ่งมีทั้งวิธีการเก็บข้อมูลแบบอัตโนมัติ (Automated) และแบบใช้มนุษย์ (human-curated) โดยการเก็บข้อมูลแบบอัตโนมัติจะเกิดขึ้นจากการรวบรวมข้อมูล (Crawl) บนเว็บไซต์ที่เปิดเป็นสาธารณะบนอินเทอร์เน็ตเพื่อหา URL ของเว็บไซต์อื่น ๆ และทำการเข้าไปเก็บข้อมูลเว็บไซต์เหล่านั้น โดยวิธีนี้มีข้อดีคือสามารถทำได้เร็วและมีความเป็นมาตรฐานในการเก็บข้อมูล แต่ข้อเสียคือ ไม่สามารถจัดการเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมหรือคัดกรองได้ละเอียดเท่าการใช้คน ซึ่งอาจส่งผลกับการทำ SEO ในภายหลัง

การค้นหาเว็บไซต์ในเว็บไดเร็คทอรี่ สามารถทำได้โดยใช้คำค้นหา (Keyword) ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาของเว็บไซต์ที่ต้องการ เมื่อ User กรอกคำค้นหาลงในช่องค้นหาของระบบ ก็จะปรากฏเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกันและแสดงผลลัพธ์ที่เกี่ยวข้องกับคำค้นหาออกมาให้เราได้เลือกดูนั่นเอง

นอกจากนี้ก็ยังมีประโยชน์ในด้านอื่น ๆ เช่น ช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือของเว็บไซต์ที่อยู่ใน Directory โดยการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับเว็บไซต์และการรีวิวจาก User คนอื่น ๆ และช่วยให้เว็บไซต์สามารถเพิ่มโอกาสในการถูกค้นหาใน Search engines ได้ด้วยการเพิ่ม Backlink จาก Directory นั้น ๆ ให้กับเว็บไซต์ของตนเองอีกด้วย


ประเภทของ Web Directories

โดยเราสามารถแบ่งประเภทของ Web Directories ออกได้ดังนี้

  • แบบฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย (Free Submission) – รูปแบบนี้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ สำหรับการเรียกดูรายชื่อเว็บไซต์ ทุกคนมีสิทธิ์เข้าถึงได้

  • แบบจ่ายตามค่าธรรมเนียม (Paid submission) – เป็นการจ่ายค่าธรรมเนียมเพื่อเข้าสู่ฐานข้อมูลที่ลึกขึ้น โดยอาจจ่ายครั้งเดียวหรือแบบต่ออายุสมาชิก โดยในหัวข้อนี้จะแฝงไปด้วยตัวแปรอีกหลายอย่างด้วยกันไม่ว่าจะเป็น ‘Directories การประมูล’ (Bid for Position) ไปจนถึง ‘Directories สำหรับผู้สนับสนุน’ (Sponsored link) ก็นับเป็นการจ่ายตามค่าธรรมเนียมเช่นกัน

  • ลิงก์เพื่อแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ (Reciprocal link) – มี Directories จำนวนมากที่ให้บริการฟรี แต่ก็ต้องแลกมากับการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นการลิงก์ระหว่าง Directories ด้วยกันหรือนำไปสู่การทำ Backlink เพื่อใช้ในการทำ SEO

  • ลิงก์ในเครือพันธมิตร (Affiliate Link) – เป็นระบบที่จะมีการจ่ายค่า Commission ให้กับผู้ที่สามารถดึงลูกค้าเข้ามาใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อของหรือสมัครสมาชิก

  • อ้างอิงตามภูมิศาสตร์ (Geographical area) – เป็น Directories ที่ถูกจัดแบ่งไว้ตามภูมิศาสตร์ โดยใช้เรื่องของพื้นที่เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น การทำ Directories อาหารท้องถิ่นเพื่อจัดหมวดหมู่ว่าภายในท้องถิ่นนั้น ๆ ที่ใช้บริการมีเว็บไซต์ร้านอาหารท้องถิ่นไหนบ้างเพื่อนำเสนอให้ผู้เข้าชมได้รู้จัก โดยหากเว็บไดเร็คทอรี่ ไม่ได้กำหนดเรื่องความเฉพาะของภูมิศาสตร์ก็เท่ากับว่าบริการนั้นมีสถานะเป็น Global directory ที่ทุกคนเข้าถึงได้

  • ตามความเชี่ยวชาญ (Specialization) – หากเป็น Directories ที่ไม่เชี่ยวชาญในหัวข้อใดๆ เป็นพิเศษ จะเรียกว่า ‘General directory’ โดยปกติแล้วหัวข้อเฉพาะเรื่องจะมีความหลากหลายตามสาขาวิชาที่มีอยู่ และเราสามารถค้นหา Directories ของกีฬา, ข่าว, สุขภาพ, เทคโนโลยี, ช้อปปิ้ง ฯลฯ ซึ่งสังเกตได้ว่ามีหมวดหมู่ที่ชัดเจน


………………………………………………………………………….


ตัวอย่าง Web Directories

แม้ Web Directory ที่มีชื่อเสียงหลายแห่งจะเลิกใช้งานไปแล้ว แต่ก็นับว่าในยุคนั้นบริการเหล่านี้ก็มีความโดดเด่นไม่น้อย อย่างที่หลายคนอาจจะเคยคุ้นหูจาก

DMOZ – ถือกำเนิดขึ้นในปี ค.ศ. 1998 ในฐานะโครงการความร่วมมือระดับโลก ปิดตัวลงในปี ค.ศ. 2017 ซึ่งในขณะนั้นเป็นหนึ่งในโครงการที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดโดยมีลิงก์ที่เชื่อมไปยังเว็บไซต์มากกว่า 5 ล้านลิงก์และภายใต้ผู้ร่วมงานกันเกือบ 100,000 ราย

Hotfrog – เป็นหนึ่งใน Directories Online ฟรีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดโดยเจาะตลาดไปที่กลุ่มธุรกิจ เรียกได้ว่าเป็นบริการที่มาแรงในยุคนั้น

Yahoo – แต่เดิมแล้ว Yahoo มีการใช้ระบบเว็บไดเร็คทอรี่ ก่อนจะขยายตัวอย่างรวดเร็วโดยการเปิดพอร์ทัลเว็บและกลายเป็น Search engines ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในช่วงปลายยุค 90 และต้นศตวรรษที่ 21 โดยปัจจุบันยังเปิดให้บริการแต่มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาโปรแกรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเว็บไซต์


แต่ใช่ว่าการบริการ Directory จะล้มหายตายจากไปเสียทั้งหมด ในทางกลับกันผู้ให้บริการหลายรายก็ได้เปลี่ยนมาให้บริการด้าน Digital Marketing โดยพร้อมเป็นแหล่งเชื่อมโยงเว็บไซต์ต่าง ๆ เพื่อใช้งานด้าน Marketing ต่อไป


Web Directory ยังจำเป็นอยู่หรือไม่? กับการทำ SEO

Web Directory กับการทำ SEO-03


การเข้ามาของ Google ทำให้การใช้งานเว็บไดเร็คทอรี่ ซึ่งเป็นเครื่องมือในการค้นหาหน้าเว็บไซต์ในขณะนั้นเริ่มลดลงอย่างช้า ๆ โดยในช่วงแรกของ Google อาจเป็นเพียงเครื่องมือในการจัดอันดับหน้าเว็บไซต์เท่านั้นแต่ด้วยการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนสามารถกลายมาเป็น Search engines ยอดนิยมทำให้พูดได้อย่างเต็มปากว่าเรื่องนี้ส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เริ่มหันมาใช้บริการของ Google มากขึ้น

คำถามในมุมกลับกันก็คือ “แล้วสุดท้าย Web Directory จะมีบทบาทอย่างไรกับการทำ SEO?”

ซึ่งวิธีการทำ SEO ในอดีตสามารถที่จะทำได้โดยการใช้ Web Directory ในการสร้าง “Backlink” เพื่อเพิ่มความสำคัญของเว็บไซต์ แต่ในปัจจุบันวิธีการนี้ไม่ได้มีความจำเป็นต่อการทำ SEO เหมือนในอดีตอีกต่อไป เพราะนับตั้งแต่ปี 2012 เมื่อ Google ได้เปิดตัวอัปเดตล่าสุดของอัลกอริทึมที่เรียกว่า “Google Penguin” ซึ่งใช้สำหรับตรวจสอบการทำ SEO และการสร้าง Backlink ของเว็บไซต์เพื่อคัดกรองคุณภาพ ซึ่งเป็นการป้องกันไม่ให้เว็บไซต์ที่มี Backlink จากเว็บไดเร็คทอรี่ที่มีคุณภาพต่ำ มีอัตราการเกิดขึ้นสูงในผลการค้นหาบน Search engines ของ Google

โดยปรากฏการณ์เหล่านี้ได้เกิดการตั้งคำถามว่าที่ผ่านมาเว็บไดเร็คทอรี่ได้รวบรวมลิงก์ที่มีคุณภาพไว้มากแค่ไหนและแน่ใจหรือไม่ ที่ทุกลิงก์จะปลอดภัยกับ User ดังนั้นการทำ SEO ในยุคนี้จึงเน้นไปที่การทำ On-Page SEO และ Off-Page SEO โดยใช้เทคนิคการสร้างเนื้อหาคุณภาพสูง (High Quality Content) และการสร้าง Backlink จากเว็บไซต์ที่มีคุณภาพมากกว่า

แต่ถึงอย่างไรก็ตามก็ไม่ได้หมายความว่าการทำ SEO บนเว็บไดเร็คทอรี่ จะไร้ประโยชน์เสียทีเดียวตราบใดที่ Content ของคุณยังใช้ได้ก็นับว่าการกระจายไปยังช่องทางต่าง ๆ ย่อมดีกว่าเสมอ


ข้อดีและข้อเสียของ Web Directories

Web Directory กับการทำ SEO-04


Web Directories มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ที่เราสามารถพบได้ดังนี้

ข้อดี

  • เพิ่ม Authority ให้กับหน้าเว็บไซต์
  • ใช้แสดงคำอธิบายหรือ Descriptions ให้คนรู้จักเว็บไซต์ของเรา
  • สามารถจัดระเบียบเว็บไซต์ได้ตามธีมหรือหมวดหมู่ที่ชัดเจน
  • เพิ่มโอกาสในการค้นหาหรือเปิดการมองเห็นของเว็บไซต์ให้มากขึ้น

ข้อเสีย

  • ไม่มีผลต่อการทำ SEO โดยตรง เนื่องจาก Google ไม่รองรับการจัดอันดับจาก Web Directories
  • ไม่มีการอัปเดตตัว Directories บ่อยนัก
  • มีฐานข้อมูลขนาดเล็กกว่า Search engines
  • Descriptions ที่ถูกใช้อาจลงรายละเอียดได้น้อยเกินไปและใช้คำกว้าง ๆ
  • ไม่ใช่บริการที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน
  • การจัดอันดับที่อาจไม่สอดคล้องกับเนื้อหา อาจทำให้ผู้อ่านไม่ได้ประโยชน์โดยตรง


สรุป: เราควรไปต่อหรือพอแค่นี้ กับการใช้ Web Directory เพื่อทำ SEO

อย่างที่กล่าวข้างต้นว่าการใช้เว็บไดเร็คทอรี่ในปัจจุบันไม่ได้มีผลต่อการ SEO ของเว็บไซต์มากเท่าในอดีต เนื่องจาก search engine ใช้วิธีการทำงานแตกต่างกันจากเดิม โดยการใช้เว็บไดเร็คทอรี่เพื่อสร้าง Backlink อาจไม่ได้ผลในการเพิ่มความน่าเชื่อถือและคุณภาพของเว็บไซต์เท่าที่ควร

แต่ในบางกรณีการเพิ่มเว็บไซต์ของคุณในเว็บไดเร็คทอรี่ ก็สามารถช่วยเพิ่มโอกาสในการทำให้เว็บไซต์ของคุณเป็นที่รู้จักมากขึ้นและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึง User ใหม่ๆ ได้เช่นกันโดยเฉพาะกับเหล่าผู้ที่มีความสนใจในเนื้อหาบนเว็บไซต์ของคุณ ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับคุณแล้วว่าจะสามารถประยุกต์ใช้เพื่อดึงประสิทธิภาพการทำงานของเว็บไดเร็คทอรี่ออกมาได้อย่างไร ให้ใช้งานอย่างเต็มที่สำหรับการทำ SEO ได้ลื่นไหลที่สุดและเหมาะสมกับในปัจจุบัน

Search
Categories