เวลาทำการตลาดออนไลน์ หลายธุรกิจไม่ว่าจะเป็นพ่อค้า แม่ค้า หรือแบรนด์ธุรกิจต่าง ๆ คงต้องเคยได้ยินคำว่า Engagement ผ่านหูผ่านตากันมาบ้าง แต่หลายคนก็ยังไม่รู้ความหมายที่แท้จริงของมัน หากให้แปลแบบตรงตัวเลย คำว่า Engage แปลว่า การผูกมัด เกี่ยวข้อง หรือการว่าจ้าง ส่วนคำว่า Engagement ในทางการตลาดออนไลน์ จะหมายถึง ผู้คนที่อยู่บนโลกออนไลน์ได้ “มีส่วนร่วม” กับแบรนด์ หรือธุรกิจของคุณตามช่องทางต่าง ๆ
โดยช่องทางหลักที่เห็นได้บ่อยกับ Engagement คือแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย คำว่ามี “มีส่วนร่วม” นี้ในทางการตลาดหมายถึง การมองเห็น Content แล้วต้องการให้ผู้ที่เห็นมีการโต้ตอบ ทั้งการกด Like, Comments, Shares รวมไปถึงการ Click เพื่อดูเนื้อหาดังกล่าว เรียกง่าย ๆ ว่าอะไรก็ตามที่ผู้เห็นได้มาเกี่ยวข้องกับ Content ของเรา รวมไปถึงการมีส่วนร่วมในด้านลบด้วย ไม่ว่าจะเป็น การแจ้งสแปม, การกดซ่อนโพส, การกด Report รายงานปัญหา สิ่งเหล่านี้ล้วนนับเป็นยอด Engagement ด้วย อีกทั้งแต่ละสื่อโซเชียลมีเดียมีการนับยอด Engagement ที่แตกต่างกันไป
ทั้งนี้หลายคนคงสงสัยแล้วว่า ยอด Engagement นี้เอาไปใช้ทำอะไรได้บ้าง บทความนี้เราจะพาไปหาคำตอบกันว่าเจ้ายอด Engagement กับการตลาดออนไลน์ จะไปด้วยกันได้ยังไง
รูปแบบยอด Engagement ที่มักถูกนำมาใช้งานอยู่บ่อยครั้ง
ปัจจุบันเราพบเห็นเหล่า Engagement ได้เยอะอย่างมากตามสื่อโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Line, Youtube, Instagram และ TikTok รูปแบบยอด Engagement เหล่านี้จะพบเห็นได้บ่อย และมักถูกนำมาใช้งานในการตลาดออนไลน์อยู่บ่อยครั้ง โดยจะมีดังต่อไปนี้
1. Like / Reaction กับการแสดงความรู้สึก
Like / Reaction คือการกดแสดงความรู้สึกบน Content หรือโฆษณาต่าง ๆ บนโซเชียลมีเดีย อีกทั้งเป็นการแสดงความรู้สึกอย่างไรกับสิ่งที่ได้เห็นด้วย ที่ที่เราพบเห็นได้บ่อยมากที่สุดก็คงไม่พ้น Facebook ซึ่งปัจจุบันมี Emotion ที่ใช้แสดงความรู้สึกหลายแบบ มีดังต่อไปนี้
- Like (ถูกใจ)
- Haha (หัวเราะ)
- Care (ห่วงใย)
- Sad (เศร้า)
- Angry (โกรธ)
- Wow (ตกใจหรือประทับใจ)
- Love (รัก)
เหล่า Emotion นี้จะช่วยบ่งบอกว่า Content หรือโฆษณาของคุณได้แสดงให้พวกเขารู้สึกอย่างไรบ้าง อีกทั้งหากคุณมี Content หรือโฆษณาคุณมีเป้าหมายให้ผู้ชมรู้สึกอย่างไรกับสิ่งที่เห็น Emotion เหล่านี้ล้วนก็มาเป็นคำตอบแทนตัวผู้ชมได้
2. Comments การแสดงความคิดเห็น
Comments คือการแสดงความคิดเห็นออกมาในรูปลักษณ์ตัวอักษรผ่านการพิมพ์ในช่องพูดคุยของ Content หรือโฆษณาตัวนั้น ซึ่งเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ใช้ในการแสดงความเห็นได้แบบละเอียดยิ่งกว่า Emotion อีก Comments เหล่านี้ยังแสดงความคิดเห็นส่วนตัว หรือสิ่งที่ต้องการให้แบรนด์ธุรกิจหรือเจ้าของ Content และโฆษณาได้รับรู้อีกด้วย แน่นอนว่าการ Comments มีทั้งในแง่บวกและแง่ลบ
3. Shares การส่งต่อที่ดี
Shares คือการที่คนเข้ามาดู Content และโฆษณาของเรา เกิดความรู้สึกว่ามันดีหรือว่าสิ่งเหล่านี้ควรต้องบอกต่อ ซึ่งการ Shares เป็นรูปแบบ Engagement ที่มีประโยชน์ต่อแบรนด์ธุรกิจอย่างมาก เพราะจะช่วยให้เพื่อนหรือผู้คนของคนที่กด Shares ได้เห็นเนื้อหาดังกล่าว เป็นเหมือนการกระจายข่าวสาร และบอกต่อไปเรื่อย ๆ โดยที่ทางแบรนด์ธุรกิจไม่ต้องทำอะไรเลย
4. Click-Throughs คลิกเพื่อดู
Click-Throughs คือยอด Engagement ที่ใช้วัดผลว่ามีผู้เห็น Content เท่าไรรวมไปถึงการกดเข้าไปยังลิงก์ที่คุณโพสไว้มากน้อยเพียงใด เป็นตัววัดผลที่ช่วยทำให้คุณรู้ว่า Content ดังกล่าวมีความน่าสนใจมากน้อยแค่ไหน แล้วพวกเขากดเข้าไปยังเว็บไซต์หรือลิงก์ปลายทางที่เราแปะไว้หรือไม่ เป็นยอด Engagement ที่ใช้วัดผลได้ดีกับการโฆษณาและการทำ SEO อย่าง Backlinks
การนำยอด Engagement มาใช้ประโยชน์
แน่นอนว่ามาถึงจุดนี้แล้ว เราทราบกันดีว่า Engagement คืออะไรแล้ว ต่อมาผู้ที่ทำการตลาดออนไลน์รู้กันแล้วว่า Engagement มักเกิดขึ้นกับแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook, Line, Youtube, Instagram, TikTok ฯลฯ เรามักพบเห็น Engagement หลายรูปแบบ ทีนี้จำนวนยอด Engagement ที่เห็นและนับรวม ๆ กันมาเนี่ย จะเอาไปใช้ประโยชน์อะไรละ หัวข้อนี้เราจะมาบอกกันว่ายอด Engagement เหล่านี้เอาไปใช้ทำอะไรได้บ้าง
1. การตลาด Engagement Marketing กับการใช้ยอด Engagement เพื่อผูกใจ
หลายคนคงสงสัยแน่ว่ายอดการมีส่วนร่วมหรือ Engagement จะเอาไปใช้ทำอะไรได้ แต่มีกลยุทธ์ในการทำตลาดแบบหนึ่งที่ถูกเรียกว่า “Engagement Marketing” รูปแบบการทำตลาดที่แบรนด์จะใช้การมีส่วนร่วมของลูกค้าหรือผู้ชมเหล่านี้ มาทำให้ลูกค้าเปิดใจกับสินค้าและแบรนด์ เช่น การทำให้ลูกค้าเกิดการพูดคุยในหน้าเพจมากขึ้น การกระตุ้นให้ลูกค้าแชร์ Content ต่าง ๆ ของเราบอกต่อคนอื่น
ซึ่งประโยชน์ของ Engagement Marketing มีมากมายหลายทางให้นำมาใช้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการนำข้อมูลเชิงสถิติของยอด Engagement มาวิเคราะห์ดูว่าส่วนไหนต้องปรับแก้ไขในแผนการตลาด และทำให้ถูกใจลูกค้า ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนสามารถช่วยการขายได้ ตลอดจนสร้างการรับรู้ถึงแบรนด์ธุรกิจ เพิ่มความรักภักดีต่อแบรนด์ และสุดท้ายเป็นการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าได้ยั่งยืนกว่าวิธีการทำตลาดแบบอื่น ๆ นั้นเอง
2. ยอด Engagement กับตัวชี้วัดความสำเร็จ
แน่นอนว่าในภาคธุรกิจหรือแบรนด์ต่าง ๆ มักจะนำยอด Engagement มาใช้เป็นตัวชี้วัดว่า Content หรือโฆษณาดังกล่าวสำเร็จหรือไม่ เข้าถึงผู้คนได้มากน้อยแค่ไหน นอกจากนี้ยอด Engagement เหล่านี้ก็จะช่วยบอกด้วยว่าจุดประสงค์ในการทำ Content หรือโฆษณาเหล่านี้ของเรา เป็นไปตามเป้าหมายที่ได้วางไว้หรือไม่
3. ยอด Engagement กับการนำมาปรับปรุงแก้ไข
เราทราบกันอยู่แล้วว่า Engagement เหล่านี้ไม่ได้มีในด้านดีเสมอไป หาก Content หรือโฆษณาของคุณทำออกมาไม่ดี Engagement ก็มักจะมีด้านลบมาเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการ Comments แสดงความคิดเห็นที่ไม่ถูกใจของผู้ชม หรือการกด Dislike (ไม่ชอบ) ซึ่งยอด Engagement ลบเหล่านี้ เราสามารถนับมาปรับปรุงแก้ไข แผนการทำ Content และโฆษณาเราในอนาคตได้อีกด้วย
ข้อแนะนำสำหรับคนที่ใช้ยอด Engagement ทำการตลาดออนไลน์
หลายครั้งเวลาเราสร้าง Content และโฆษณาบนโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นโซเชียลมีเดียต่าง ๆ เรามักโฟกัสกับยอด Engagement ว่ามีคนเข้ามาดูเท่าไร มีคนกด Like ไปกี่คนแล้ว เพราะ Engagement มักถูกนำมาเป็นตัวชี้วัดของเหล่านักการตลาด ทำให้พวกเขาต้องเร่งทำยอดให้ได้มาก แต่มันจะดีจริงหรือ ? การมียอดมีส่วนร่วมที่เยอะ แต่ไม่ยั่งยืน วันนี้เรามาบอกต่อและแนะนำอะไรดี ๆ กับคนที่โฟกัส Engagement จนมากเกินไป
- มองให้ออกว่าเราต้อง Engagement แบบไหน
นักการตลาดเมื่อทำ Content หรือโฆษณามักโฟกัสไปแต่กับยอด Engagement ที่ได้ว่ามีมากน้อยแค่ไหน ถ้ามากก็พึงพอใจ ถ้าน้อยก็เสียใจ โดยไม่ได้สนใจเลยว่าเป็นในรูปแบบ Like, Shares หรือ Comments ซึ่งถ้าตามความจริงในหลักการ เราควรโฟกัสในจุดที่ Content หรือโฆษณาต้องการสื่อ ยกตัวอย่างง่าย ๆ หากคุณทำ Content หนึ่งขึ้นมา คุณมีจุดเป้าหมายที่ชัดเจนคืออยากให้ผู้คนได้อ่าน และมีส่วนร่วมในการตอบความคิดเห็น คุณจะไปโฟกัสกับยอด Like และ Comment
ซึ่งการทำแบบนี้ถือว่าดีมาก เพราะถือว่าถูกต้องตามเป้าหมายแรกที่ตั้งไว้ แต่กับบางกลุ่มหรือบางคนมักจะสร้าง Content อะไรก็ได้ ไม่มีจุดมุ่งหมายชัดเจน แค่อยากให้มียอด Engagement โดยรวมเยอะแค่นั้นจบ การทำแบบนี้ไม่ถูกต้อง เพราะจะทำให้เราไม่ได้ข้อมูล Engagement ที่เป็นประโยชน์ต่อเป้าหมาย และนำมาปรับใช้ในแผนการตลาด และเพราะเหตุผลนี้คุณควรโฟกัสให้ดีว่า เป้าหมาย Content และโฆษณาของคุณคืออะไร และต้องการ Engagement แบบไหนกันแน่
- พร้อมรับฟังและปรับตัวอยู่เสมอ
เรื่องของ Engagement เป็นเรื่องของคนทั้งสองฝั่ง คือคนส่งสารกับคนรับสาร ไม่ใช่แค่เรื่องของแบรนด์ธุรกิจอยากบอกเล่า Content หรือโฆษณา แต่เป็นเรื่องของคนที่จะโต้ตอบกับแบรนด์ธุรกิจด้วย ฉะนั้นนักการตลาดที่โฟกัสเรื่องยอด Engagement ต้องหัดฟังกลุ่มเป้าหมายลูกค้า หรือผู้ชมอยู่เสมอว่าพวกเขาแสดงความคิดเห็นอย่างไรบ้าง เพื่อนำสิ่งเหล่านี้มาปรับใช้ในแผนการตลาดของตัวเองได้ อีกทั้งการฟัง ไม่ใช่แค่การดูว่าพวกเขาแสดงความคิดเห็นหรือโต้ตอบ Content ของเราเพียงอย่างเดียว
แต่ต้องดูด้วยว่าพวกเขาแสดงความคิดเห็นกับ Content คู่แข่งอย่างไร ตลอดไปจนถึงการโต้ตอบกับ Content อื่นๆ ที่อาจจะไม่ใช่คู่แข่งเราด้วย เพื่อเป็นการเรียนรู้พฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมาย ว่าชอบ Content แบบใด และนำข้อมูลเหล่านี้มาปรับแผนการตลาดของคุณให้เหมาะสมอยู่เสมอ
- เน้นความคุณภาพ ดีกว่าเน้นที่ปริมาณ
การสร้าง Engagement ให้ได้ “ตัวเลข” ไม่ใช่เรื่องยากหรอก เอาเงินยัดทำโฆษณาเพื่อให้ได้ยอดก็ยังทำได้ หรือจะใช้เทคนิคต่างๆ นานา ไม่ว่าจะสายขาว สายเทา สายดำ ก็ทำได้ (อย่างการโพสต์ Click-bait หรือพาดหัวฉูดฉาดให้คนคลิกเข้าไปดู) คำถามคือผลลัพธ์ที่ได้นั้นจะยั่งยืนและเป็นประโยชน์กับแบรนด์ธุรกิจจริงหรือ เมื่อพูดถึงจุดนี้แล้ว ก็ต้องย้อนกลับไปมองว่านักการตลาดเข้าใจกันดีหรือไม่ว่า Engagement ที่ได้มา เอามาทำไม และเอาไปทำอะไร การวางแผนการตลาดจะต้องเป็นไปตามขั้นตอนและเป็นเหตุเป็นผลเพื่อนำไปสู่การประสบความสำเร็จที่ตั้งไว้จริง ๆ ไม่ใช่แค่การได้ตัวเลขที่เยอะไว้อวดคนอื่น เพราะอย่าลืมว่าตัวเลข Engagement สูงมากน้อยแค่ไหน มันก็เป็นแค่ “ทางผ่าน” เท่านั้น
บทสรุป ยอด Engagement กับการตลาดออนไลน์
สุดท้ายแล้วยอด Engagement ก็มักถูกมองว่าเป็นตัวแปรหรือตัวชี้วัดความสำเร็จ แต่หากไปโฟกัสกับยอด Engagement มากจนเกินไป จนไม่ได้ดูเลยว่าเราต้องการอะไรกันแน่กับ Engagement ที่ได้มา และเอาไปใช้ทำอะไรต่อ มันจะทำให้คุณกลายเป็นแค่เพียงผู้สร้าง Content หรือโฆษณาที่สนใจแต่ “ตัวเลข” ผลลัพธ์ที่ได้ก็มีแค่ตัวเลขยอด Engagement ที่มาก แต่ไม่ได้คุณภาพที่มัดใจลูกค้าหรือผู้ชม ดังนั้นยอด Engagement หากถูกนำมาใช้ในทางที่ถูก รู้ว่าต้องการอะไรจากมัน และเอามันไปทำอะไรต่อ มันจะต่อยอดไปในทางที่ดีในการทำการตลาดออนไลน์ได้อย่างแน่นอน